ปัญหาเรื่อง “ลูกขี้ฟ้อง” เป็นปัญหาน่ากลุ้มของหลายๆ บ้านอยู่เหมือนกันนะคะ เนื่องจากเราบอกลูกไว้ว่าถ้ามีอะไรให้มาเล่าให้ฟัง คราวนี้คนตัวเล็กเลยเล่าทั้งเรื่องจริง เรื่องไม่จริง และทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่เกินจริงไปมาก จนทำให้ทั้งครูและผู้ปกครองต่างปวดหัวไปตามๆ กัน วันนี้แม่แอร์จากเพจ เลี้ยงลูกเชิงบวก จึงนำสาเหตุและวิธีแก้ไขมาฝากกันค่ะ
สาเหตุที่ทำให้ลูกขี้ฟ้อง
- เกิดขึ้นจากช่วงวัยของลูก โดยในช่วงอายุ 3 ปีจะเป็นช่วงที่เด็กๆ เริ่มไปโรงเรียน จากเด็กที่เคยมีของเล่นเล่นอยู่ที่บ้านคนเดียว มีคนคอยเอาอกเอาใจ แต่พอไปโรงเรียนแล้ว ต้องไปแบ่งของเล่นกับเพื่อน เพื่อนก็อาจจะแบ่งให้บ้าง ไม่ให้บ้างตามประสาเด็ก คุณครูก็ต้องดูแลเด็กหลายคน พอลูกรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ดังใจก็หงุดหงิด และนำไปเรื่องบอกคุณครู และคุณแม่
- อยากเอาคืน ลูกอาจจะถูกเพื่อนแกล้งจริงๆ แต่ทำอะไรเพื่อนคนนั้นไม่ได้ จึงบอกคุณครู หรือคุณพ่อ คุณแม่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าให้ไปจัดการแทน
- เห็นว่าเพื่อนทำอะไรไม่ถูก ต้องแก้ไข แต่พอบอกไปเพื่อนก็ไม่เชื่อ จึงต้องมาบอกคุณครู
- เรียกร้องความสนใจ อยากเป็นคนที่ผู้ใหญ่รัก อยากเก่งและเป็นเด็กดีมากกว่าคนอื่นๆ
- เกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบ เช่น เห็นจากในละครทีวี ก็นำไปทำบ้าง
เมื่อรู้สาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นเด็กขี้ฟ้องแล้ว เราก็ควรมีวิธีการรับมือดังต่อไปนี้ค่ะ
1. รู้จักลูก และไม่เข้าข้างลูกเกินไป
เป็นการรักลูกตามความเป็นจริง รู้ว่าลูกเรามีนิสัยอย่างไร ถ้ารู้อยู่แล้วว่าลูกช่างฟ้อง ก็ยิ่งควรมีสติในการรับฟัง ไม่งั้นจะกลายเป็นปัญหาผู้ใหญ่ทะเลาะกัน หากลูกทำดีก็ชมเชย แต่หากทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด พร้อมอธิบายเหตุผลให้ลูกทราบ หากเรารักลูกมากไป หรือปล่อยเลยตามเลย ลูกจะเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง ใครทำอะไรไม่ถูกใจก็ฟ้องหมด
2. สอนลูกให้ยอมรับความแตกต่าง
ทุกคนมีข้อดี – ข้อเสีย แตกต่างกัน บางคนอาจจะมีฐานะไม่ค่อยดี แต่เขาเป็นเด็กขยัน ในขณะที่เด็กอีกคนอาจจะตัวดำ แต่ก็มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ตัวลูกเองก็มีทั้งข้อดี ข้อเสียเช่นกัน ดังนั้น จึงอย่าไปจับผิดเพื่อน
3. รับฟังลูกด้วยเหตุผล
เรื่องนั้นเกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน อย่างไร แล้วค่อยคิดวิเคราะห์ปัญหา บางทีอาจเป็นเรื่องที่ลูกไปเจอมาแล้วเอามาเล่าให้เราฟัง ไม่ได้เกิดขึ้นกับเขาเองจริงๆ ก็ได้ จากนั้นจึงสอบถามครู และเพื่อนๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยใจที่เป็นกลาง หากเพื่อนผิดจริง ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย
4. สอนลูกให้รู้จักเลือกคบเพื่อน
ถ้าใครแกล้ง หรือทำร้ายเรา ก็ให้พยายามหลีกเลี่ยง ให้เลือกคบเพื่อนคนอื่นๆ เวลาไปไหนอย่าไปคนเดียว ควรมีเพื่อนอีกคนหนึ่งไปด้วย
5. สอบถามคุณครูว่าลูกเราเป็นอย่างไรเมื่ออยู่โรงเรียน
เด็กบางคนพออยู่ที่บ้านก็นิสัยอย่างหนึ่ง แต่พอไปโรงเรียนกลับมีนิสัยอีกอย่างหนึ่งก็มี จริงๆ แล้วลูกเราอาจจะเป็นคนแกล้งเพื่อนก็ได้ แต่กลัวความผิด จึงไปฟ้องครูก่อน ซึ่งหากลูกเราผิดจริง ก็ต้องสอนให้ขอโทษเพื่อนด้วยความจริงใจ
6. สอนลูกว่าหากถูกแกล้งจริงๆ ควรรีบบอกครู และพ่อแม่
เพื่อจะได้ขอความช่วยเหลือ แต่หากไม่ได้ถูกแกล้งจริงๆ อย่าใช้วิธีพูดโกหก เพราะจะกลายเป็นเด็กไม่น่ารัก ไม่มีใครอยากคบด้วย ต่อไปพูดอะไรไปก็ไม่มีใครฟัง
7. ใช้นิทานเป็นตัวช่วย
เช่น นิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ หนูนิดพูดโกหก เพราะการใช้นิทานช่วยจะทำให้ลูกเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น นอกจจากนี้เมื่อลูกเห็นโทษของการโกหกจากในนิทาน ลูกก็จะจดจำและไม่ทำตามตัวละครในนิทานค่ะ
เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากอยู่สักหน่อยสำหรับเด็ก แต่หากเราสอนลูกตั้งแต่แรกๆ ก็จะทำให้ลูกมีความรู้เข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น และอาการขี้ฟ้องก็จะค่อยๆ ลดลงแล้วล่ะค่ะ
ติดตามแม่แอร์ได้ที่เพจ เลี้ยงลูกเชิงบวก นะคะ