Parents One

7 เทคนิคปรับความคิด เมื่อต้องเชื่อในสิ่งที่ลูกรัก

ความชอบของพ่อแม่ มักจะแตกต่างจากความชื่นชอบของลูกเสมอ ซึ่งไม่มีใครผิดหรือถูกที่จะชอบในสิ่งที่ต่างกัน แล้วจะทำอย่างไร? ให้เรายอมรับในสิ่งที่ลูกชอบกันล่ะ Parents One เตรียมคำตอบมาให้คุณแล้วค่ะ ไปอ่านกันเลย

1. อย่าเอาความฝันของตัวเองไปเป็นความฝันของลูกเด็ดขาด

เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความฝันในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น สิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ และสิ่งที่ตัวเองรัก พ่อแม่บางคนไม่ค่อยเข้าใจในกฎข้อนี้สักเท่าไหร่ เมื่อลูกเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จึงเผลอนำความฝัน และความคาดหวังของตัวเองฝังเข้าไปในหัวสมองของลูกโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ

ผลที่ตามมาแทนที่จะดี เพราะมีคนปูทางให้ กลับส่งผลกระทบร้ายเเรง อาจไม่ใช่กับตัวพ่อแม่โดยตรง แต่ส่งผลต่อตัวลูกโดยตรงแน่ๆ เพราะลูกอาจจะรู้สึกกดดันจากสังคมภายนอก ที่ไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบแล้ว ยังต้องนั่งกดดันกับครอบครัวของตัวเองด้วย นั่นก็เพราะ ไม่เคยมีใครถามถึงความรู้สึกที่แท้จริงข้างในของพวกเขานั่นเอง

 

2. อย่ามองว่าสิ่งที่ลูกชอบนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ

แม้แต่การ์ตูนแต่ละเรื่องย่อมมีข้อคิด และประโยชน์ของมัน ที่ผู้ใหญ่อย่างเราสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกๆ จะติดการ์ตูนบ้าง เพราะขนาดผู้ใหญ่ยังติดได้เลย เพราะฉะนั้น เราต้องอย่ามองเพียงแค่เปลือกภายนอก ให้มองถึงข้อดีของมัน และคิดในแง่บวกมากๆ

แล้วเราจะทำได้อย่างไร? ลองไปนั่งดูการ์ตูนกับลูก หรือโหลดเกมส์ที่ลูกติดจนงอมแงมมาเล่นสิคะ ว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง สนุกไหม? จะได้คุยภาษาเดียวกับลูกรู้เรื่อง แถมยังเป็นการช่วยลดระยะห่างของความสัมพันธ์ในช่วงวัยภายในครอบครัวอีกด้วย

ใครจะไปรู้ว่าในอนาคต ลูกของเราอาจจะได้เป็นนักแคสต์เกมส์ที่โด่งดัง และมีชื่อเสียง หรือว่ากลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของการ์ตูนเรื่องนั้นเลยก็ได้ใช่ไหมล่ะคะ

 

3. อย่าเชื่อคนอื่นมากกว่าลูก หรือกลัวว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร?

สิ่งต่างๆ ย่อมไม่ได้เป็นไปตามแบบที่เราคาดคิดไว้เสมอ แต่สิ่งที่เราทำได้ เมื่อลูกบอกกับเราว่าเขาชอบอะไร หรือเขาเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นแบบนี้นะ และถึงแม้ว่ามันจะสวนกระแส หรือสวนทางความคิดของผู้ใหญ่ในหลายๆ คน เราก็อยากให้พ่อแม่ทุกคนมีความเชื่อมั่นในตัวของลูกเรามากกว่าใครนั่นเองค่ะ

ถ้าเราไม่เชื่อเขา แล้วใครจะมาเชื่อเขาล่ะ จริงไหมคะ?

4. อย่าเปรียบเทียบลูกเรากับลูกคนอื่น

การเปรียบเทียบไม่เคยส่งผลดีต่อใคร รวมทั้งคนที่นำมาเปรียบเทียบด้วย แม้ว่าข้างนอกอาจไม่ได้เเสดงความรู้สึกให้ผู้อื่นรับรู้ แต่ข้างในกลับถูกกรีดลึกด้วยคำพูดของคนที่ตัวเองรัก รวมทั้งความกดดันในเรื่องต่างๆ ที่ถูกผู้ใหญ่คาดหวังคงจะเจ็บไม่น้อย

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกรู้สึกแบบนี้ เลิกพูดเปรรียบเทียบลูกกันเถอะค่ะ โดยเฉพาะเรื่องราวของพี่น้องก็อย่าเปรียบเทียบว่าใครเก่งกว่า หรือฉลาดกว่าใครเลยค่ะ ถ้าไม่อยากสร้างสร้างแผลเป้นในใจให้กับลูกอีกคน

 

5. ให้อิสระในการตัดสินใจ ทั้งการเลือกเรียนและการเลือกเล่น

ไม่บังคับว่าโตไป ลูกจะต้องเรียนอันนี้นะ แบบนี้นะ ให้อิสระทางความคิดแก่ลูก ได้ทำในสิ่งที่รัก ทำในสิ่งที่ชอบ ให้พวกเขาได้ตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง

ไม่ใช่เพียงแค่การเลือกเรียน ยังรวมไปถึงการเลือกเล่นด้วยนะคะ ถ้าเขาชอบเล่นอะไรก็ปล่อยให้เขาเล่นไปเถอะค่ะ เชื่อเถอะค่ะว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเเน่นอน

6. เชื่อและมั่นใจในตัวลูกให้มากๆ

ความเชื่อ คือแรงผลักดันให้ทุกคนมีพลัง การเชื่อในสิ่งที่ลูกทำ คือหน้าที่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง

เพียงแค่เราเชื่อมั่นว่าลูกจะทำสำเร็จในสิ่งที่เขาตั้งใจ และต้องการ คอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ให้ลูกได้รับรู้ว่า ถึงแม้จะไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่ลูกคิดหรือทำว่ามันจะสำเร็จได้ แต่พ่อกับแม่เชื่อนะ เพียงเท่านี้ ลูกก็จะมีแรงและกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคเเล้ว

 

7. สนับสนุนลูกไปให้สุดทาง

สอนลูกอยู่เสมอว่า เมื่อเราลงมือทำอะไรแล้ว ไม่ควรล้มเลิกง่ายๆ ควรอดทน กล้ารอ รอเวลาที่วันนั้นจะมาถึง และทุกอย่างที่ลูกสร้างไว้ คิดไว้จะสำเร็จ มันต้องมีแน่นอน

ลูกไม่ต้องกังวลอะไร เพียงแค่เดินตรงไปยังเส้นทางที่ลูกได้เลือกเดินด้วยตัวเอง เพราะตรงนี้ พ่อกับแม่จะสนับสนุนลูกไปให้สุดทางเอง แค่นี้พ่อกับแม่ก็ภูมิใจในตัวลูกมากๆ แล้ว


สุดท้ายนี้อยากฝากข้อคิดให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนให้ “ลองรักในสิ่งที่ลูกรัก” และคอยเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งพ่อแม่ให้กับลูก ในยามที่ลูกเหนื่อย หรือท้อแท้ เท่านี้พลังของลูกก็จะกลับมาต่อสู้ให้พ่อแม่อย่างเราได้ภูมิใจในตัวเขามากๆ แล้วล่ะค่ะ