ลูกดื้อ หรือซนมักเกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่เป็นสิ่งที่หล่อหลอมพฤติกรรมของลูก รวมถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกไปในทางที่ดีได้ด้วยวิธีการพูด หรือการสื่อสารกับลูกในเวลาที่เขาดื้อ ไม่เชื่อฟัง และต่อต้านเรานั่นเองค่ะ
ซึ่งวิธีการสื่อสารด้วยการพูดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่ามันสามารถกระทบต่อพฤติกรรม การรับฟังของลูกได้อย่างดี โดยเฉพาะในช่วงวัย 2 -5 ขวบ เเละเด็กจะเริ่มมีความคิดของตัวเอง แต่ว่าเขายังสื่อสาร และยังควบคุมอารมณ์ได้ไม่ค่อยดี จึงทำให้ใครหลายๆ คนมองว่า ลูกเรานั้นเป็นเด็กดื้อ Parents One จึงขอเสนอ 7 กลยุทธ์พูดอย่างไร…ให้ลูกเชื่อฟัง แม้ลูกกำลังโมโหอยู่ มาเป็นตัวช่วยให้กับคุณพ่อคุณแม่จัดการกับอารมณ์ของลูกนั่นเองค่ะ
กลยุทธ์ที่ 1 : เรียกชื่อลูกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะพูดให้ลูกทำอะไร
วิธีนี้จะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกน้อยก่อน ให้เขาหันมาสนใจ และตั้งใจฟังในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังจะพูด โดยวิธีการพูดนั้น คือให้เรียกชื่อลูกแล้วหยุด เรียกจนกว่าลูกจะหันมามองเราอย่างตั้งใจ แล้วถึงค่อยอธิบายเหตุผลต่างๆ ให้ลูกเข้าใจในเรื่องที่ทำให้ลูกโกรธ หรือโมโห ที่สำคัญต้องคุยกับลูกด้วยเหตุผลเป็นหลักนะคะ เช่น นุ่นลูก…… นุ่น เงยหน้ามามองแม่ก่อนนะคะ เรามาค่อยๆ คุยกันนะลูก
กลยุทธ์ที่ 2 : ต้องพูดให้เข้าใจง่าย สั้นและกระชับใจความ
เพราะเด็กวัยนี้ ยังไม่สามารถฟัง และทำสิ่งต่างๆ หลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน ลูกจะจับใจความได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากฟังสิ่งที่ยาวๆ เด็กก็จะงง งอแง และลืมง่ายนั่นเอง
ดังนั้นเมื่อลูกกำลังโมโหให้พูดกับลูกสั้นๆ กระชับ ไม่บ่นยืดเยื้อ บอกแค่ว่าเขาทำผิดอะไร และให้โอกาสเขาได้ลองทบทวนกับตัวเองว่าผิดจริงรึเปล่า? จากนั้นค่อยหันหน้าให้ลูกเปิดใจรับฟังปัญหา และจับเข่าคุยกันค่ะ
กลยุทธ์ที่ 3 : ใช้น้ำเสียงให้ถูกต้อง และถูกเวลา
การคุยกับลูกด้วยเสียงที่ดัง ตะเบงหรือตะโกนกับลูกตลอดเวลา เขาจะไม่เข้าใจว่าเราต้องการจะสื่ออะไร พูดธรรมดา หรือว่ากำลังดุเขา ซึ่งอาจจะส่งผลให้เขาไม่ฟัง หรือไม่ปฏิบัติตามนะคะ ดังนั้นจึงต้องบอกให้เขาฟังว่า น้ำเสียงแบบนี้แปลว่าอะไร ? แม่กำลังโกรธอยู่นะ หรือแค่เตือน ให้เขารับรู้สิ่งที่เราต้องการที่อยากจะสื่อไปให้จริงๆ นั่นเอง ด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบแต่ทรงพลังค่ะ
สิ่งสำคัญที่ควรหลีกเลี่ยงเลย ก็คือ หากเราใช้น้ำเสียงที่ดังดุลูกบ่อยๆ อาจทำให้เขาติดพฤติกรรมจนกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดีจากเราตอนที่โมโหก็ได้ค่ะ
กลยุทธ์ที่ 4 : ใช้คำพูดในด้านบวก
คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามอย่าใช้คำพูดว่า “ไม่” หรือ “ห้าม” กับลูก รวมทั้งปรับเปลี่ยนการใช้คำพูดต่างๆ ให้เป็นในด้านบวกมากกว่าค่ะ เช่น ถ้าเราไม่อยากให้ลูกวิ่ง แทนที่จะบอกว่าอย่าวิ่งสิลูก ให้เปลี่ยนเป็นเดินช้าๆ สิลูก ลูกจะยอมเชื่อฟัง และปฏิบัติตามได้ง่ายกว่า
กลยุทธ์ที่ 5 : อ่อนโยน แต่เด็ดขาด
คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักการเลือกใช้คำพูดให้ลูกรู้สึกยอมฟัง หรือเรียกอีกอย่างว่า “อ่อนโยน แต่เด็ดขาด” ค่ะ เรียกว่าใช้คำพูดไม่สั่งลูกจนเกินไป แต่ก็ยังคงอ่อนโยนไม่ทำให้ลูกหวาดกลัว
กลยุทธ์ที่ 6 : มีทางเลือกให้ลูกตัดสินใจ
หากลูกดื้อแล้วเราอยากให้ลูกทำตามในสิ่งที่เราพูด ควรเสนอทางเลือกให้เขาได้เลือกนั่นเองค่ะ เพราะลูกจะรู้สึกมีอำนาจในการตัดสินใจ เช่น หนูจะเล่นต่ออีก 1 หรือ 2 นาที ก่อนจะไปอาบน้ำดีคะ?
กลยุทธ์ที่ 7 : พูดให้ลูกได้คิด
คุณพ่อคุณแม่ลองพูดข้อดี ข้อเสียให้ลูกได้ลองคิดไตร่ตรอง รวมทั้งคิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำของตนเองว่าที่ทำลงไปนั้น ลูกทำถูก หรือทำผิด การปล่อยให้ลูกได้ลองนั่งคนเดียว หรืออยู่กับตัวเองจะช่วยให้อารมณ์ของลูกสงบลงได้ค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับ 7 กลยุทธ์ พูดอย่างไร…ให้ลูกเชื่อฟัง แม้ลูกกำลังโมโหอยู่ ที่เรานำมาบอกกัน หวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะนำไปปรับใช้กับลูกๆ ให้ไม่ดื้อไม่ซน และไม่ดุลูกด้วยน้ำเสียงที่เสียงดังนะคะ อย่าลืมว่าลูกจะโตมาเป็นคนอย่างไรในสังคม มันเริ่มต้นจากการที่ลูกถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวอย่างไรเสียมากกว่านั่นเองค่ะ