“หนูอยากเป็นนักแคสเกม” “ผมอยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต” “น้องอยากเป็นเกมมาสเตอร์”
คุณพ่อคุณแม่เคยมีจังหวะขมวดคิ้วกันบ้างไหมคะ กับคำตอบของเจ้าตัวน้อยที่เงยหน้าขึ้นจากจอมาพูดกับเรา ก่อนเคยถามว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” ก็ได้คำตอบเป็นคุณหมอ พยาบาล ตำรวจ หรือคุณครู แต่ตอนนี้คำตอบของลูกๆ กลับกลายเป็นเหมือนภาษาต่างดาวชวนให้นั่งคิด นึกสงสัยกันครู่ใหญ่ โดยเฉพาะกับอาชีพสายเกมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่เด็กๆ รุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีทันสมัยรอบตัว
ทาง Parents One ขอเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่มา Level up! ทำความรู้จักอาชีพสายเกมให้มากขึ้นไปพร้อมกัน จะมีอาชีพอะไรในวงการเกมที่น่าจับตามองบ้าง เป็นอาชีพในฝันที่เจ้าตัวน้อยเคยบอกเคยเล่าให้ฟังหรือเปล่า กดปุ่ม Start! แล้วเริ่มเรียนรู้กันเลยค่ะ
1. สตรีมเมอร์ (Streamer)
อาชีพในฝันอันดับต้นๆ ของคนที่มีใจรักในการเล่นเกม หน้าที่ของสตรีมเมอร์คือ การเล่นเกมถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Youtube หรือ Twitch แบ่งปันเทคนิคการเล่น สอนเล่นเกม หรือพูดคุย เรื่องเกี่ยวกับเกมหรือไม่เกี่ยวก็ได้ เพื่อสร้างความสุข และความบันเทิงให้กับผู้ชม
คุณสมบัติและทักษะที่ควรมี :
- มีทักษะการสื่อสารที่ดี พูดจาน่าฟัง
- สนุกสนาน เฮฮา มีอารมณ์ขัน
- รู้จักควบคุมอารมณ์
- เป็นตัวของตัวเอง
- แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
- มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมถ่ายทอดสด
รายได้ :
- สตรีมเมอร์ที่มีสังกัด มีรายได้เฉลี่ย 10,000-100,000 บาท/เดือน
โดยมีรายได้มาจากการถ่ายทอดสดตามแต่เงื่อนไขที่ต้นสังกัดกำหนด และรายได้จากงานเสริมอื่นๆ เช่น การรับงานโฆษณา รีวิวสินค้า เข้าร่วมงาน Event
- สตรีมเมอร์อิสระ มีรายได้เฉลี่ย 10,000-40,000 บาท/เดือน
มีรายได้จากการถ่ายทอดสดที่ผู้ชมจะมอบเงินในลักษณะของขวัญตามเงื่อนไขของแพลตฟอร์มต่างๆ และมีรายได้จากงานเสริมอื่นๆ
2. เกมแคสเตอร์ (Game Caster)
คำว่า “นักแคสเกม” ที่ได้ยินกันบ่อยๆ มีที่มาจากอาชีพเกมแคสเตอร์นี่เอง เป็นอาชีพที่ผลิตวิดีโอเล่นเกมเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ มีการพูดคุยหรือนำเสนอเรื่องราวตามเกมที่กำลังเล่นอยู่ บ้างก็วิเคราะห์วิจารณ์ สอนภาษาตามแต่สไตล์ของแต่ละคน โดยมีจุดประสงค์ในการมอบความสุขและความบันเทิงเช่นเดียวกับสตรีมเมอร์
คุณสมบัติและทักษะที่ควรมี :
- มีทักษะการสื่อสารที่ดี พูดจาน่าฟัง
- สนุกสนาน เฮฮา มีอารมณ์ขัน
- กล้าแสดงออก
- มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
- มีทักษะการตัดต่อวิดีโอ
- มีความคิดสร้างสรรค์
รายได้ : 40,000-500,000 บาท/เดือน ตัวกำหนดรายได้ของเกมแคสเตอร์ คือ จำนวนผู้ติดตาม และผู้ชมบนช่องทางต่างๆ ยิ่งมีผู้ติดตามมากก็จะมีโอกาสได้รับงานอื่นๆ ตามไปด้วย ได้ค่าจ้างโฆษณา ได้ค่าโปรโมตสินค้า รวมถึงการสนับสนุนจากผู้ชมด้วยการ Donate ให้เกมแคสเตอร์โดยตรง
3. นักกีฬาอีสปอร์ต (E-sport Player)
E-Sport ย่อมาจาก Electronic Sport เป็นเกมกีฬาที่มีกฎ กติกา และวิธีการเล่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อแข่งขันในระดับสากลเหมือนกับกีฬาชนิดอื่นๆ นักกีฬาอีสปอร์ตเองก็ถือเป็นนักกีฬาคนหนึ่งซึ่งมีเกมออนไลน์เป็นสนามแข่ง มีอุปกรณ์เป็นคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือพร้อมด้วยระบบอินเทอร์เน็ตประสิทธิภาพสูง และต้องมีการฝึกฝน พัฒนาตัวเอง เข้าร่วมแข่งขันไม่ต่างกัน
คุณสมบัติและทักษะที่ควรมี :
- มีความสามารถในการเล่นเกม
- มีทักษะในการคิดวิเคราะห์
- มีไหวพริบ
- มีวินัย
- ทำงานเป็นทีมได้
รายได้ : เริ่มต้นที่ 15,000 บาทไปจนถึงหลักล้านบาทต่อเดือน มีรายได้มาจากต้นสังกัดให้เป็นเงินเดือน ตามความสามารถและประสบการณ์
4. นักพากย์การแข่งขันเกม (Shout Caster)
เรามักจะเห็นภาพของผู้บรรยายข้างสนามแข่งกีฬา ในเกมการแข่งขันอีสปอร์ตก็มีผู้บรรยายที่ทำหน้าที่เหมือนนักพากย์กีฬาอื่นๆ เหมือนกันค่ะ คอยบรรยายภาพการแข่งขันในเกมในช่วงระยะเวลาระหว่าง 30 นาทีไปจนถึงมากกว่า 3 ชั่วโมง วิเคราะห์ความได้เปรียบเสียเปรียบ เพื่อให้ผู้ชมได้รับอรรถรสในการรับชมและมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
คุณสมบัติและทักษะที่ควรมี :
- มีทักษะการสื่อสารที่ดี
- น้ำเสียงน่าฟัง
- มีความมั่นใจ
- ถ่ายทอดเรื่องราวเก่ง น่าสนใจ
- แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
- รู้และเข้าใจกฎ-กติกา ลักษณะ และผู้เข้าแข่งขันในเกมเป็นอย่างดี
รายได้ : เฉลี่ย 50,000-150,000 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานในการแข่งขันครั้งนั้นๆ ประกอบกับ ประสบการณ์การทำงาน ความสามารถ และชื่อเสียง
5. เกมอาร์ตติส (Game Artist)
สายสร้างสรรค์มาทางนี้ ถึงไม่ได้เป็นผู้เล่นก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของวงการนี้ได้ เกมอาร์ตติสเป็นผู้รับผิดชอบความสวยงามของเกม ทำหน้าที่ออกแบบและวาดองค์ประกอบต่างๆ ตั้งแต่ตัวละคร ฉาก เครื่องแต่งกายในเกมตามที่นักออกแบบเกมกำหนด ทำให้เกมออกมาสวยงาม ดึงดูดให้ผู้ชมอยากเล่น
เกมอาร์ตติส มี 2 ประเภท คือ
- เกมอาร์ตติส 2D : ร่างแบบตัวละคร ฉาก บรรยากาศเพื่อให้ทีมอื่นๆ เห็นภาพและเข้าใจคอนเซ็ปต์ตรงกัน
- เกมอาร์ตติส 3D : รับหน้าที่ต่อจากเกมอาร์ตติส 2D เพื่อปั้นโมเดลสามมิติ ให้เห็นองค์ประกอบหลายด้าน
คุณสมบัติและทักษะที่ควรมี :
- มีความรู้ด้านศิลปะ
- มีความรู้รอบตัว
- มีความคิดสร้างสรรค์
- มีทักษะการทำงานศิลปะ
- มีทักษะการใช้โปรแกรม
รายได้ : เกมอาร์ตติส 2D มีรายได้ 15,000-25,000 บาท/เดือน ส่วนเกมอาร์ตติส 3D มีรายได้ 50,000 บาท/เดือน
6. นักออกแบบเกม (Game Designer)
คนเบื้องหลังผู้สร้างสรรค์ความสนุกสนานจากความว่างเปล่า เริ่มต้นคิดตั้งแต่ประเภทของเกม รูปแบบ วิธีการเล่น และกติกา ก่อนจะกระจายไปให้ฝ่ายอื่นๆ ผลิตออกมาเป็นงานต่อไป รวมถึงควบคุมภาพรวมตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงการเขียนโปรแกรม
คุณสมบัติและทักษะที่ควรมี :
- มีทักษะคณิตศาสตร์
- มีความรู้รอบตัว
- ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ชอบการทดลองอะไรใหม่ๆ
- มีความคิดสร้างสรรค์
- มีความเป็นผู้นำ
รายได้ : เฉลี่ย 15,000-100,000 บาท/เดือน โดยเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์
7. เกมมาสเตอร์ (Game Master)
สื่อกลางที่เชื่อมโลกของผู้สร้างและผู้เล่นเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นสังคมเกมขึ้นมา มีหน้าที่ประสานงาน บริหารจัดการ อำนวยความสะดวก และคอยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้ผู้เล่นได้สนุกสนานเต็มที่ไม่มีสะดุด
คุณสมบัติและทักษะที่ควรมี :
- มีทักษะการสื่อสารที่ดี
- มีทักษะด้านภาษา
- เชี่ยวชาญในส่วนที่รับผิดชอบ
- ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่
- รักการบริการ
รายได้ : เริ่มต้นที่ 20,000 บาท เพิ่มขึ้นตามประสบการณ์และหน้าที่รับผิดชอบ
โลกก้าวหน้า เวลาหมุนเปลี่ยน ในปัจจุบันมีสายอาชีพเกิดใหม่มากมายกว่าที่เราคิด ทำให้เด็กๆ มีอิสระในการเลือกทางเดินของตัวเองมากขึ้น จากสิ่งที่ลูกชอบในวันนี้ อาจกลายเป็นทางที่ใช่สำหรับเขาในอนาคต
และในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง พ่อแม่อย่างเราๆ ก็ต้องพยายามก้าวทันโลกไปพร้อมกับลูก ลูกจะอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร สิ่งสำคัญคือการช่วยแนะนำ ส่งเสริมให้ถูกทาง สนับสนุนเต็มที่ด้วยความเข้าใจ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยเติบโตแข็งแรงมั่นใจ ประสบความสำเร็จในทางของตัวเอง จะผิดจะพลาด พบเจออุปสรรคแค่ไหน ก็ไปต่อได้แบบไม่มี Game Over แน่นอน
อ้างอิงจาก