Parents One

7 พฤติกรรมไม่ดีของลูกมีสาเหตุมาจากอะไรนะ ? พร้อมวิธีการแก้ไข

เคยสังเกตไหมคะว่าเจ้าตัวเล็กมีพฤติกรรมที่ไม่ดีอะไรบ้างไหม เช่น ชอบกรี๊ด ชอบกัดเล็บ ชอบดึงผมหรือทำร้ายตัวเอง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นล้วนมีสาเหตุและวิธีการแก้ไขค่ะ วันนี้เราเลยจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปดูว่าพฤติกรรมเหล่านี้มีสาเหตุมาจากอะไร จะได้ปรับพฤติกรรมของเจ้าตัวเล็กได้ดีขึ้น

กัดเล็บ

สาเหตุของการกัดเล็บมักเริ่มมาจากความคับข้องใจ หรือความเครียด ความกังวลต่อสถานการณ์บางอย่างที่เกิดรู้สึกไม่สบายใจ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงใช้วิธีกัดเล็บเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเพื่อแสดงออกถึงความไม่สบายใจ

วิธีการแก้ไข

ในเบื้องต้นปัญหาการกัดเล็บเป็นพฤติกรรมพื้นฐานในการตอบสนองทางอารมณ์ที่พบได้บ่อยในเด็ก และส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ดังนั้นพ่อแม่ควรใจเย็นและหาสาเหตุว่าลูกไม่สบายใจหรือกังวลใจเรื่องอะไร ไม่ควรไปดุด่าเพราะลูกจะยิ่งกังวลและกัดเล็บหนักขึ้น

อาจลดพฤติกรรมการกัดเล็บด้วยการให้กัดอย่างอื่นที่ไม่อันตราย เช่น กัดผ้า กัดของเล่นยาง และเบี่ยงเบนความสนใจให้ลูกไปทำกิจกรรมอื่น

อ้างอิงhaijai.com ,  หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก

กรี๊ด

ลูกกร๊ดเพราะรู้สึกขัดใจแต่ยังพูดไม่ได้เลยส่งเสียงกรีดร้องระบายอารมณ์ ซึ่งตรงนี้แหละค่ะสำคัญ ถ้าพ่อแม่เห็นลูกกรี๊ดแล้วตามใจทุกครั้ง ลูกก็จะจดจำว่าการกรี๊ดจะทำให้ลูกได้สิ่งที่ต้องการและทำเป็นนิสัย เมื่อไม่พอใจอะไรก็จะกรี๊ด และบางทีลูกอาจจะเลียนแบบพฤติกรรมมาจากคนรอบข้างด้วย

วิธีการแก้ไข

สนใจลูกอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อไหร่ที่เราหันไปสนใจลูกตอนที่ลูกกรี๊ดเขาก็จะจดจำว่านั่นเป็นเรื่องที่ดี ทำแล้วแม่สนใจ รวมไปถึงอย่าตามใจมากเกินไป และสอนให้ลูกควบคุมอารมณ์ตัวเอง หากผิดหวังหรือเสียใจก็ให้ระบายออกมาเป็นคำพูดมากกว่ากรีดร้อง

อ้างอิง : เข็นเด็กขึ้นภูเขา/

ดูดนิ้ว

เด็กมักดูดนิ้วเพื่อเป็นการสำรวจนิ้วมือตัวเอง หรืออาการคันเหงือกจากฟันที่กำลังจะขึ้น รวมทั้งใช้แทนการสื่อสารว่าหิวแล้ว การดูดนิ้วของลูกในช่วงขวบปีแรกจึงเป็นเรื่องปกติ และจะลดลงเองในช่วง 2-4 ขวบ ถ้าดูดนานกว่านั้นอาจทำให้ลูกฟันเหยินหรือการสบฟันผิดปกติได้

วิธีการแก้ไข

ใช้ของเล่นเข้าช่วย คือให้ของเล่นที่ต้องให้มือเล่นเป็นหลักเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจลูกจากการเอานิ้วเข้าปาก เมื่อเห็นลูกดูดนิ้วก็ให้ดึงมือของลูกออกอย่างนิ่มนวลและหันเหความสนใจของลูก อย่าบังคับ ดุด่า หรือตีมือเพื่อให้ลูกดูดนิ้ว เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ลูกแสดงพฤติกรรมเหล่านี้มากขึ้น

อ้างอิง : samitivejhospitals

โกหก

ในเด็กวัย 2-3 ขวบ ลูกยังไม่เข้าใจหรือยังไม่สามารถแยกแยะความจริงกับจินตนาการได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ลูกพูดไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่ได้ตรวจสอบกับโลกความเป็นจริง พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เด็กโกหก” เพราะจะเป็นการตอกย้ำพฤติกรรมนี้เข้าไปในสมองลูกแทน

เมื่อลูกโตขึ้นพอที่จะรู้ว่าแบบไหนคือการโกหก แต่ยังโกหกอยู่ก็อาจเป็นเพราะกลัวความผิดหรือไม่กล้าที่จะพูดความจริงออกมา หรือกลัวว่าการบอกความจริงจะทำให้พ่อแม่เสียใจ

วิธีการแก้ไข

สิ่งสำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องเปิดใจ พูดคุยกับลูกให้มากขึ้น ฟังลูกให้มากขึ้น ตัดสินลูกให้น้อยลง ใช้เวลาอยู่กับลูกให้มาก เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของลูกและแสดงถึงความเข้าอกเข้าใจ เพื่อให้ลูกเกิดความไว้วางใจและกล้าที่จะคุยกับพ่อแม่ในทุกเรื่อง

ไม่ควรพูดประโยคประเภท “อย่ามาโกหก แม่ไม่ชอบ” “ถ้ารู้ว่าโกหก จะลงโทษให้หนักเลย”

อ้างอิง : trueplookpanya , Dad Mom and Kids

ดึงผม

เมื่อลูกดึงผมสาเหตุแรกอาจมาจากการคันหัว นอกจากนี้ยังเป็นความเคยชินที่จะดึงหรือเล่นผม เวลาที่เขานอนหรืออ่านหนังสือ มือที่ว่างๆ ไม่มีอะไรทำก็จะมาดึงผมเล่น ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือเกิดจากความเครียดทางจิตใจ จึงดึงผมเพื่อคลายความเครียด โดยนิสัยนี้จะหายไปเองเมื่ออายุได้ 4 ขวบ

แต่ถ้าหากลูกมีพฤติกรรมดึงผมติดต่อกันนานและหนักมาก จนสังเกตได้ว่าหัวล้านเป็นหย่อมๆ ลูกอาจเป็นโรคทิโคทิโลแมนเนีย (Trichotilomania) ภาวะการดึงผมตัวเองและควรไปปรึกษาแพทย์

วิธีการแก้ไข

หากลูกคันหัวก็ให้เลือกใช้ยาสระผมใหม่ที่อ่อนโยนเพื่อลดการระคายเคือง แต่ถ้าเกิดจากสาเหตุอื่นก็ควรหาสาเหตุให้ได้ว่าลูกไม่สบายใจเรื่องอะไร แล้วให้ลูกค่อยๆ พูดความรู้สึกออกมา เพื่อระบายความเครียด ที่สำคัญอย่าไปบังคับหรือดุให้ลูกหยุดดึงผม ให้ใช้การประนีประนอม

อ้างอิงtheasianparent

ตีหัวตัวเอง

พฤติกรรมเด็กชอบตีตัวเองหรือทำร้ายตัวเอง เกิดขึ้นจากความรู้สึกคับข้องใจ อึดอัด สับสน อยากเลียนแบบผู้ใหญ่แต่ถูกจำกัดไม่ให้ทำ และตัวเองก็ยังทำอะไรไม่ได้ จึงรู้สึกหงุดหงิด อยากอาละวาด พูดก็ยังไม่เก่งเลยแสดงออกด้วยภาษากาย อย่างเอามือตีหัวตัวเอง และยิ่งพ่อแม่ตอบสนองต่อการกระทำนี้ ลูกก็ยิ่งจำเพราะคิดว่าได้ผลจึงทำร้ายตัวเองอยู่เรื่อยๆ

วิธีการแก้ไข

ให้เบี่ยงเบนความสนใจของลูกตอนที่ลูกตีหัวตัวเอง เพราะเด็กจะสนใจสิ่งใหม่ที่น่าสนใจมากกว่า โดยพ่อแม่ไม่ต้องทำสีหน้าวิตก หรือขึ้นเสียงใส่ลูก ถ้าพ่อแม่ไม่สนใจ เดี๋ยวเขาก็จะค่อยๆ เลิกทำพฤติกรรมนี้ไปเอง แต่ที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องให้ความรักความอบอุ่นกับลูกอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ไม่สนใจแบบไม่ไยดีค่ะ

อ้างอิง : สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ , theasianparent

เล่นอวัยวะเพศตัวเอง

การที่ลูกถูไถอวัยวะเพศตนเองกับพื้นหรือสิ่งของเป็นเรื่องที่เกิดจากความบังเอิญ เพราะลูกทำแล้วรู้สึกเพลิดเพลิน เป็นสุข ซึ่งลูกอาจค้นพบการทำแบบนี้ในขณะสำรวจเรียนรู้อวัยวะเพศตนเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องวิตกกังวลไปค่ะ

วิธีการแก้ไข

ควรเบนความสนใจด้วยการเข้าไปพูดคุย ชวนให้ไปทำกิจกรรมอื่น เพิ่มเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกให้มากขึ้น เบี่ยงเบนความสนใจลูกไปในทางอื่น ไม่ควรตี หรือดุด่าอย่างรุนแรงว่าเป็นเรื่องผิดปกติ หรือสกปรก เพราะอาจทำให้มีปัญหากระทบกระเทือนด้านอารมณ์ความรู้สึก ให้บอกลูกว่าลูกจะทำแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในห้องนอนหรือห้องน้ำ การทำแบบนี้ในที่สาธารณะเป็นเรื่องไม่สุภาพ

อ้างอิง : praram9 สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ