ในขณะนี้ศูนย์เด็กเล็กและสถานศึกษาเปิดมาสักระยะหนึ่ง ซึ่งนอกจากโรค COVID-19 แล้ว ยังทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปากอีกด้วย
สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 กรกฎาคม 2563 พบผู้ป่วย 6,812 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่สุดในเด็กแรกเกิด – 4 ปี (82.56%) รองลงมาคืออายุ 7-9 ปี (4.80%) และอายุ 5 ปี (4.74%)
โดยโรคมือ เท้า ปากจะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กๆ สามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน
อาการของโรคคือ มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
สำหรับวิธีป้องกันคือ
- พ่อแม่ต้องคัดกรองลูกก่อนมาโรงเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน
- ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อลดการสัมผัสความเสี่ยงที่เชื้อจะติดมากับของเล่น
- หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
- ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
- จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
- หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ควรให้หยุดเรียนและพาไปพบแพทย์โดยเร็ว แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ
อ้างอิงจาก
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=14033&deptcode=brc&news_views=2251