Parents One

6 ความสัมพันธ์ toxic relationship ที่ต้องได้รับการแก้ไข

ทุกครอบครัว, คนรักรึแม้แต่เพื่อนฝูง ทุกสังคมและตัวตนมักถูกผูกโยงไว้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า relationship หรือภาษาไทย ความสัมพันธ์ แน่นอนว่าคนเรามีทั้งความสัมพันธ์ที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป ซึ่งในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษหรือมีศัพท์เฉพาะว่า toxic relationship กันค่ะ

เคยรู้สึกกันมั้ยคะว่าทำไมบางครั้งยิ่งเราอยู่ด้วยกัน ยิ่งมีฝ่ายที่เหนื่อยหรือต้องเสียใจ หรือเคยมีช่วงความคิดนี้กันบ้างรึเปล่าว่า

” ถ้าต้องใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป เราจะต้องเลิกกันแน่ๆ ”

” เฮ้อเหนื่อยจัง…ทำไมแต่งกันแล้วทำเราเหมือนเป็นคนใช้เลย ”

” มีลูกแล้วมันภาระจริงๆ ”

” ทำไมพ่อแม่ต้องคอยควบคุมตลอดเวลาเลย นี่ก็โตมากแล้วนะ ”

” อยากเลิกกับคุณมาก ถ้าไม่ติดลูกจะขาดความอบอุ่นคงหย่าไปนานแล้ว ต้องอดทนเพื่อลูก ”

หากใครคนใดคนหนึ่งหรือทุกคนในครอบครัวเกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมาก็อาจเป็นไปได้ว่า ครอบครัวของเรากำลังพบกันปัญหา toxic relationship แล้วล่ะค่ะ และในบทความนี้ก็จะทำให้ทุกคนเข้าใจและหาทางช่วบรับมือกับความสัมพันธ์แบบนี้กันนะคะ

Toxic relationship คืออะไร

toxic relationship คือความสัมพันธ์เชิงลบที่ยิ่งใช้เวลาร่วมกันมากเท่าไหร่ก็ยิ่งรู้สึกบั่นทอนกันและกันไปมากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้เกียรติกัน ไม่เคารพตัวตนของกันและกันหรือใช้อำนาจในการพยายามควบคุมคนอื่นๆ ซึ่งในตอนแรกนั้น ความสัมพันธ์นี้มักใช้พูดในกรณีของคู่รักและคู่ครองแต่มาในตอนนี้กลับใช้ครอบคลุมไปถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่, พ่อกับลูก, แม่กับลูก, พี่น้อง, ญาติผู้ใหญ่กับพ่อแม่, ลุงป้าน้าอากับหลาน

ทุกความสัมพันธ์สามารถเป็นพิษได้หมดถ้าคนในครอบครัวยังมีการปฏิบัติต่อกันตามข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

ควบคุมให้คนอื่นเป็นดั่งใจเรา

ในบางครั้ง การมีคนนำหรือเป็นเสาหลักในการประคองความสัมพันธ์และชีวิตคนในบ้านเป็นเรื่องที่ดีแต่เมื่อไหร่ที่มันกลายเป็นการควบคุม, การบังคับรึแม้แต่การข่มขู่เพื่อให้คนในบ้านยินยอมและยินดีที่จะเป็นอยู่หรือทำตามและร้ายแรงที่สุดก็คงไม่พ้นการทำให้คนที่เรารักถูกตัดสิทธิทุกอย่างในการได้ตัดสนิใจสิ่งต่างๆ ในชีวิต นั่นจึงเป็นสัญญาณแล้วว่าความสัมพันธ์เชิงลบได้เริ่มก่อตัวซึ่งตัวอย่างเหตุกาณ์มีดังนี้

” นี่ฉันเป็นเสาหลักของบ้าน เธอต้องฟัง ต้องรู้จักสงบปากสงบคำ จำไว้! ”

” ฉันแต่งเข้ามาเพื่อจะได้ใช้ชีวิตสบายๆ  เป็นผู้ชายก็หัดหาเงินมาเลี้ยงดูถึงจะสมกับเป็นผู้ชาย ”

” ห้ามเรียน วิชาอะไรไร้สาระ ไปเรียนแพทย์สิ เงินดีกว่าตั้งเยอะ ”

” เป็นลูกนะ ต้องฟังคำสั่งพ่อกับแม่! ”

” พี่เป็นพี่ ต้องได้ก่อน น้องเอาทีหลัง เอามานี่! ”

ทางแก้ไข

ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจแบบไหนก็ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวหรือไม่สบายใจให้ได้กับคนที่เรารักในครอบครัว ดังนั้นจึงควรแก้ไขให้ถูกวิธีด้วยการรับฟังให้มากพูดให้น้อย, เปิดรับความเห็นของทุกคนและแสดงความเป็นผู้นำในทางที่ถูกต้องแทนการวางอำนาจเช่น พ่อเป็นคนที่ไว้ใจของทุกคนในบ้าน มีอะไรขอให้บอกพ่อได้นะ , แม่มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนนี้ของบ้าน ถ้าอยากจะทำอะไรก็มาขอแม่ก่อนนะจ๊ะ ไม่งั้นจะต้องโดนดุนะ

ในส่วนของลูกหรือหลานนั้นนับได้ว่ามีอำนาจในการควบคุมน้อยกว่าผู้ใหญ่แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านต้องคอยสอนอยู่เสมอในเรื่องการแบ่งปัน, ความสำคัญของพี่น้อง

 

ความผิดเก่าเล่าใหม่

ทุกคนล้วนเคยทำผิดพลาดหรือเคยทำให้เกิดความไม่พอใจกับบุคคลต่างๆ รอบตัวไม่เว้นแม้แต่คนในบ้าน หากการทำผิด ได้รับการตักเตือนหรือทำโทษไปแล้วนั้นก็ควรจบลงแต่ในความจริงทุกวันนี้ การขุดความผิดเก่าๆ หรือข้อพลาดในอดีตมาโจมตีความรู้สึกของคนที่เรากำลังสนทนาหรือโต้เถียงอยู่ด้วย ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องและเป็นกันเกือบทุกบ้านจนทำให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวเริ่มสั่นคลอนไปด้วยความรู้สึกทางลบ ทะเลาะกันได้ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยที่แก้ปัญหาได้ไปจนปัญหาใหญ่มากทำให้เกิดความรู้สึกถูกต่อต้านและไม่ยอมรับตัวตน ยกตัวอย่างการกระทำที่เป็นการขุดสิ่งเก่าๆ มาทำร้ายความรู้สึกอีกฝ่าย

” อย่านึกว่าจะลืมนะที่เคยไม่ฟังกันจนเราต้องเจ็บตัว ”

” จำได้แม่นเลยที่โกหกกัน จะทำอีกแล้วใช่ไหม? ”

” เคยเอาชุดแม่ไปเล่นจนขาด โตมาเดี๋ยวก็คงทำอีก สอนไม่จำ ”

” มันซุ่มซ่ามจะตาย ให้มันไปถือเดี๋ยวก็ทำตกเหมือนเดิม ”

ทางแก้ไข

ไม่ว่าจะเป็นประโยครูปแบบไหนแต่หากมีการพูดถึงประเด็นเก่าๆ ที่ผ่านพ้นไปแล้วในทางลบหรือใช้อารมณ์มากๆ ก็มักจะก่อให้เกิดรอยร้าวขึ้นได้กับความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครในครอบครัวก็ควรจะต้องมองความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ไปบ้าง ไม่จำเป็นต้องจับผิดหรือพยายามพูดตอกย้ำในสิ่งที่ผ่านพ้นเพราะไปแล้ว เพราะบนโลกใบนี้ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบและได้ดั่งใจเราไปเสียทุกอย่าง

หากสามารถทำได้หรือลดลงได้ก็จะช่วยให้ตัวเราไม่ผูกใจเจ็บกับอะไรนานๆ จนเสียสุขภาพจิตและไม่ทำให้คนในครอบครัวรู้สึกอึดอัดเวลาต้องพูดคุยกับเราด้วย

 

อยู่เพื่อลูก โดยไม่ได้ถามลูก

ในภาพฝันของครอบครัวแสนสมบูรณ์เราต้องประกอบด้วยพ่อ, แม่และลูก เป็นมโนภาพที่กรอบสังคมและวัฒนธรรมหล่อหลอมให้เรามาเป็นเช่นนี้ ทำให้บ่อยครั้งเราจึงจะได้เห็นความสัมพันธ์ที่แตกร้าวไปแล้ว, ไม่สามารถต่อกันติดได้ แต่ทว่า คนที่เจ็บปวดนั้นก็จะยังคงอยู่ด้วยกันต่อไปโดยการบอกถึงความอดทนนี้ว่า ” อยู่เพื่อลูก ” เดี๋ยวใครจะว่าลูกเอาได้ว่าไม่มีพ่อหรือไม่มีแม่ สงสารลูกถูกสังคมประนาม

แต่ในความจริงยิ่งอยู่อาจยิ่งเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อมโดยที่ผู้ปกครองไม่ทันได้รู้ตัว เพราะในช่วงเวลาของความรักคนคู่ได้สิ้นสุดลงนั้น การต้องฝืนอยู่ด้วยกันก็ล้วนเต็มไปด้วยความทรมาน, อยากที่จะมีอิสระในการทำอะไรก็ทำได้ไม่เต็มที่, ต้องพบเจอกับปัญหาเดิมๆ ที่ทำให้ตัดใจจากคู่ครองและยังปัญหาต่างๆ จากความกดดันที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาระทางการงาน, การเงิน และในจังหวะเดียวกันกับความรู้สึกของลูกที่ถูกกล่าวอ้างก็อาจจะรับรู้ได้ถึงความสัมพันธ์กันไม่ราบรื่นนี้จนนำไปสู่การเก็บตัว ไม่อยากพูดคุยหรือบอกความรู้สึกกับใครได้อีกเพราะไม่ว่าพ่อหรือแม่ก็ไม่สามารถทำให้เขาไว้ใจได้

ทางแก้ไข

ต้องยอมรับความจริงและยอมรับให้ได้ว่าการมีครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมครบทั้งสามสิ่งไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นหรือจุดสูงสุดในชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือการมีอยู่ที่ไม่ก่อให้เกิดความอึดอัดหรือความทุกข์ให้กับใครเลยในครอบครัว ดังนั้นแล้วหากมีการหย่าร้างหรือต้องแยกจากกันโดยทั้งสองฝ่ายยินยอมและหมดรักกันแล้วจริง ก็ต้องทำให้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบในการส่งเสียเลี้ยงดู, การให้ที่พักอาศัย อาหารการกินรวมไปถึงข้อบังคับหรือปฏิบัติทางกฏหมายต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม

หากลูกคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็ต้องเลือกในทางที่ลูกมีความสุขหรือต้องการมากที่สุด

 

ลดทอนคุณค่าโดยไม่รู้ตัว

บ่อยครั้งที่ความสัมพันธ์ของทุกคนในครอบครัวอยู่กันด้วยความรู้สึกว่านี่คือความรักและความหวังดีที่มอบให้ แต่ถ้าลองมาสังเกตดูดีๆ มันอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ก็ได้ในอนาคตที่เราเองก็ไม่ทันได้ระวัง เช่น

” ไม่ต้องทำหรอก เดี๋ยวแม่จัดการเอง ”

” เหนื่อยทำไม อยู่บ้านเราสบายๆ จะออกไปลำบากลำบนทำไม ”

” ผมมีเงินพอเลี้ยงได้ทั้งคุณและลูก ไม่เห็นต้องทำงานอะไรเลย ”

” อยากทำอะไรก็ตามใจเลยนะ พ่อแม่เตรียมทุกอย่างไว้ให้แล้ว ไม่ต้องเหนื่อยเอง ”

คำพูดเหล่านี้ ฟังแล้วอาจดูเป็นความห่วงใยหรือเตรียมรากฐานที่ดีไว้ให้แล้วสำหรับทุกคนในครอบครัวเพราะมันเต็มไปด้วยความห่วงใยและหวังดี แต่ในขณะเดียวกันมันกลับเป็นดาบสองคมที่อาจทำให้คนในบ้านคนอื่นไม่มีที่ยึดเหนี่ยวอื่นเลยนอกจากทางเลือกนี้เพราะหากมีคุณพ่อหรือคุณแม่เพียงคนเดียวเป็นเสาหลักที่ต้องจัดการทุกอย่าง และถ้าวันใดล้มลงก็อาจทำให้สถานะของทางบ้านทั้งหมด ล้มลงไปได้ มันเป็นความประมาทที่ละเลยไม่ได้โดยเด็ดขาด

การเลี้ยงดูลูกโดยการช่วยทุกอย่าง เลี้ยงแบบไข่ในหินจนไม่ให้ลูกได้มีโอกาสลองทำหรือเรียนรู้ความเหนื่อยยากเหล่านี้เอง พอถึงเวลาที่ลูกต้องออกไปมีครอบครัวของตนเองหรือประสบเข้ากับปัญหาต่างๆ ที่ยากเกินจะแก้ อาจส่งผลให้ลูกทำอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้วิธีแก้ที่ถูกต้อง มีอะไรก็จะต้องร้องเรียกแต่ให้พ่อแม่มาช่วย

ทางแก้ไข

ต้องมีความพอเหมาะพอดีกับการให้และหยุดในการดูแลทุกคนในบ้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ประคบประหงมลูกหลานมากจนเกิดไปเพราะนอกจากต้องกลัวเรื่องเสียคนคือ การส่งผลให้เขาใช้ชีวิตในโลกภายนอกเองไม่ได้ ในส่วนของตัวของคู่ครองก็ต้องสร้างคุณค่าให้กันและกันอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งรับบทฮีโร่ตลอดเวลาหรือเป็นเจ้าชีวิต ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการยึดติดในความสัมพันธ์หรือตัวตนบุคคลจนเกินเหตุ

และอีกปัญหาที่ห้ามมองข้ามเด็ดขาด ต้องแก้ไขอย่างจริงจังคือต้องช่วยกันสร้างคุณค่าให้กันและกันให้มาก อย่าปล่อยให้ความคิดว่าฉันทำได้แค่นี้แหละ, เท่านี้ก็พอแล้ว, ไม่ต้องทำอะไรให้ดีกว่าเดิมก็ได้มาครอบงำแนวทางการใช้ชีวิตของใคร เพราะยิ่งครอบครัวตระหนักได้ถึงความสำคัญและการมีคุณค่าของตนก็จะยิ่งสนับสนุนให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและตื่นรู้ตลอดเวลา

 

ที่พักพิงจอมปลอม

เราคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งว่าหากมีเรื่องทุกข์ร้อนหรือไม่สบายใจ ที่บ้านคือเซฟโซนหรือที่พักพิงเดียวที่จะพึ่งพาได้ แต่ในความจริงมันอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปเพราะคนที่ใกล้ตัวที่สุดมักเข้าใจว่าตนเองรู้ดีที่สุดแล้วว่าสมาชิกของครอบครัวต้องการอะไรและต้องปฏิบัติตัวด้วยแบบไหนซึ่งใครจะรู้ได้ว่าในความเข้าใจนั้นคือการเข้าใจไปเองโดยไม่ได้สำรวจความรู้สึกของคนในบ้านเลยสักนิดจนกลายเป็นคำพูดที่เกิดการบั่นทอนมากกว่าช่วยฉุดให้ดีขึ้น อาทิ

” งานเยอะเหรอ งี้แหละเดี๋ยวก็ชิน ”

” เครียดอะไรล่ะ แค่นี้เอง ”

” โอ๊ย ผ่านมาก่อน สบายๆน่ะ มองเป็นเรื่องตลกเข้าไว้สิ ”

” ทำไมอ่อนแอจัง ถ้าเป็นแม่/พ่อนะ ไม่มาเสียใจอะไรงี่เง่าแบบนี้หรอก ”

ถึงจุดประสงค์ของการพูดจะต้องการให้คนในครอบครัวรู้สึกผ่อนคลายและละทิ้งปัญหาออกไปจากใจได้บ้างแต่ผลที่ได้ตอบกลับมายิ่งทำให้เกิดการปิดใจและตีตัวออกห่างไปเพราะไม่มีใครเลยที่เข้าใจปัญหาจริงๆ ว่าสมาชิกในครอบครัวนั้นต้องการกำลังใจแบบไหน

การแก้ไข

ไม่ควรตัดสินปัญหาหรือสถานการณ์ของคนในบ้านว่าเป็นเรื่องที่ละเลยได้หรือไม่มีอะไร แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังเป็นทุกข์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากกลัวว่าจะเผลอพูดอะไรไม่ดีหรือตอบไปแล้วเกิดส่งผลไม่ดีกลับมาแทน ลองฟังเฉยๆ รับรู้และดูแลในทางอื่นแทนไม่ว่าจะเป็น พาออกไปเปิดหูเปิดตา ชวนดูภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ที่ชื่นชอบ รึแม้แต่การพาไปทานอาหารอร่อยๆ เองก็ช่วยเหลือได้มากแล้วในช่วงเวลาแย่ๆ เพราะนั่นแปลว่า ครอบครัวให้ความใส่ใจกันและกัน

 

ตั้งความหวังโดยการบอกว่าไม่หวัง

” ไม่ต้องเรียนเก่งหรอกแต่ก็มีเกรดดีๆ มาให้ชื่นใจบ้างก็ดีนะ ”

” ซื้ออาหารเข้ามากินก็ได้แหละ ทำอาหารเองมันเหนื่อย ก็หวังว่าพอไม่มีการเข้าครัวแล้ว บ้านจะสะอาดขึ้น ”

” เงินเรามีพอใช้แหละแต่ก็เดือนชนเดือนนะ ได้เงินมากกว่านี้ก็คงดี ”

” พี่ไม่ต้องเสียสละให้น้องหรอกแต่ก็ควรทำไว้บ้างจะได้ไม่ถูกใครตำหนิเอา ”

ในประโยคด้านบนที่ได้ยกตัวอย่างไปนั้น คงสังเกตได้ว่าในความไม่หวังนั้นกลับเต็มไปด้วยความกดดันที่แสดงความรู้สึกจริงๆ ของคนพูดโดยไม่รู้ตัว เพราะส่วนมากทุกคนในบ้านหวังให้แม่เป็นแม่บ้านที่ดี ทุกคนหวังให้คุณพ่อเป็นเสาหลักในการหาเงินเข้าบ้าน ทุกคนหวังให้ลูกสามารถสร้างความภูมิใจให้กับที่บ้าน

สมาชิกทุกคนในครอบครัวมักตั้งความหวังตนไว้เสมอแต่เพราะกลัวจะทำให้กดดันเลยมักจะพูดหรือบอกออกไปก่อนว่าไม่ได้ตั้งความหวังหรือต้องการบังคับ หากปล่อยไว้ให้เป็นเช่นนี้ก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวเป็นพิษไปได้ตลอดกาลเพราะฝั่งผู้พูดก้จะรู้สึกไม่ได้ดั่งใจและในเวลาเดียวกันฝั่งผู้ฟังเองก็จะรู้สึกโทษตัวเองอยู่ตลอดเวลาที่ทำอะไรแล้วก็ไม่ได้ดั่งใจคนในครอบครัวเสียที

ทางแก้ไข

ค่อยๆ ปรับความคิดของเราทุกคนโดยการตั้งความหวังอย่างพอดี และซื่อตรงกับความรู้สึกของตนเอง ไม่พูดไปทีเพื่อขอให้อีกฝ่ายรับฟังแต่ต้องแสดงความจริงใจในการพูดคุยเพราะสุดท้ายแล้วหากคนในบ้านทำไม่ได้ดั่งใจอย่างที่เราอยากให้เป็นก็จะพาลให้มีปากเสียงกันได้ ดังนั้นการพูดคุยจากที่แอบแทรกความกดดันต่างๆ ไว้ควรเปลี่ยนเป็น

” ทำได้ดีมากเลย ต่อไปต้องดีขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน พยายามเข้านะ ”

” ขอบคุณที่เหนื่อยเพื่อเราทุกคนในบ้านนะ ถ้ามีอะไรที่อยากให้ช่วยก็บอกได้เลยนะ ”

” จะงานในบ้านหรือนอกบ้านก็หนักเหมือนกัน เข้าใจที่สุดเลย ถ้าไม่ไหวบอกมาได้เลย ”

” คุณเป็นแบบอย่างที่ดีมากๆ เลย ขอให้เป็นแบบนี้ต่อไปนานๆ นะ ”

 

ที่มา : pearybrownn , storylogadaybulletinmangozerothematter