เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้สึกถึงอากาศอันร้อนระอุในช่วงนี้กันแล้วอย่างแน่นอน นอกจากจะต้องรับมือกับอากาศร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ยังต้องระวังโรคหน้าร้อนให้ดี เพราะอากาศที่อบอ้าวแบบนี้แหละค่ะ เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็นโรคที่มากับความร้อนโดยตรง หรือโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ทำให้ในช่วงซัมเมอร์เราต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตกันมากขึ้น มาดูกันดีกว่าว่ามีโรคอะไรบ้างที่เราต้องระวัง!
1. โรคอุจจาระร่วง
ภาพจาก – Rabbit Finance
เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ เชื้อก่อโรคเหล่านี้สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปเช่นกัน อาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นอาการสำคัญของโรคอุจจาระร่วง อาจถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด โดยทั่วไปมักจะอาเจียนร่วมด้วย ความรุนแรงของอาการแตกต่างกันได้มาก บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางรายอาจมีอาการรุนแรงมาก ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันและรักษา
หากสูญเสียน้ำมากๆ ควรทานเกลือแร่ ทดแทนการสูญเสียน้ำ หากมีอาการปวดท้องหรือปวดเบ่งรุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมูกปนเลือด ยิ่งเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรพาไปพบแพทย์ วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงคือ กินอาหารและน้ำที่สะอาด ล้างมือบ่อยๆ ขณะเตรียมอาหาร โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสของสด อาหารที่ปรุงสุกแล้วควรเก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังกินอาหาร และภายหลังกิจกรรมต่างๆ
2. อาหารเป็นพิษ
ภาพจาก – matichon.co.th
อาหารเป็นพิษเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในช่วงหน้าร้อนที่เราเผลอทานอาหารปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอาหารที่ทำล่วงหน้านานๆ เช่น ข้าวกล่อง หรืออาหารค้างคืนที่ไม่ได้เก็บแช่ไว้ในตู้เย็น อาการของโรคมักเกิดขึ้นภายใน 2-6 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อเข้าไป เริ่มตั้งแต่มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ถ้าถ่ายอุจจาระมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
วิธีป้องกันและรักษา
หากพบว่ามีอาการในระยะแรก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มเกลือแร่ โดยห้ามกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะเป็นการกักเชื้อให้อยู่ในร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากเกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายมาก อาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้ วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษ คือควรกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ทานอาหารที่เก็บไว้ค้างคืนนานๆ เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคโดยไม่จำเป็น
3. อหิวาตกโรค
ภาพจาก – Rabbit Finance
โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในลำไส้ ทำให้เกิดท้องร่วงเฉียบพลันอย่างรุนแรง ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วจนเข้าขั้นอันตราย ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ในรายที่มีอาการรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจจะทำให้เสียชีวิตภายใน 2-3 ชั่วโมงได้ เชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่มากในอาหารทะเลดิบ หรืออาหารสุกๆ ดิบๆ หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแสดงอาการขึ้นได้ภายใน 24 ชั่วโมงถึง 5 วัน อาจเริ่มจากถ่ายอุจจาระเหลววันละหลายครั้ง มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หรือในบางคนมีอาการรุนแรงกว่านั้น เช่น ท้องเดิน ถ่ายคล้ายน้ำซาวข้าว มีมูกมาก มีกลิ่นคาว อาจจะถ่ายได้โดยที่ไม่มีอาการปวดท้อง บางครั้งอาจจะถ่ายออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว หากเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงอาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันและรักษา
สุขอนามัยที่ดีก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อต่างๆ ได้มากเลยทีเดียว เพียงแค่หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่ต้องหยิบจับสิ่งของที่ไม่มั่นใจในความสะอาด หรือแม้แต่ก่อนจะหยิบอาหารเข้าปาก เพื่อเป็นการชำระล้างเชื้อโรคที่อาจติดอยู่ที่มือค่ะ หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือของหมักดอง รับประทานแต่อาหารที่ผ่านความร้อนจนสุก เลี่ยงอาหารที่ทำทิ้งไว้นานแล้ว ก็สามารถปลอดภัยจากเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของอหิวาตกโรคได้
4. โรคบิด
ภาพจาก – jadovie.com
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคด้วยนะคะ หากติดเชื้อก็มักจะมีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย และอาจทำให้อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือดได้อีกด้วย
วิธีป้องกันและรักษา
แม้โรคบิดจะพบได้มาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท แต่ก็สามารถป้องกันได้ไม่ยาก โดยการบริโภคอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำคลองและน้ำดิบ นอกจากนี้ควรขับถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคที่อยู่ในอุจจาระกระจายออกไป
5. ไข้ไทฟอยด์
ภาพจาก – bonnykids.com
ไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย เป็นอีกหนึ่งโรคที่สามารถติดต่อจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเช่นกัน ซึ่งเจ้าโรคไข้ไทฟอยด์นี้จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร และอาจท้องผูกหรือท้องเสียได้ นอกจากนี้เชื้อปนก็อาจปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราวได้ด้วย ทำให้เราเป็นพาหะนำโรคได้นั่นเอง
วิธีป้องกันและรักษา
ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น หากผู้ป่วยอาการดีขึ้น ภายใน 4 ชั่วโมง เริ่มให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม หลังจากดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม ควรทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ อยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด ดื่มน้ำที่สะอาด รวมทั้งล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
6. โรคลมแดด
ภาพจาก – thaihealth.or.th
โรคลมแดด หรือโรคฮีตสโตรก เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป เช่น การตากแดดนานๆ ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 17-70 เลยทีเดียว
วิธีป้องกันและรักษา
สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
วิธีที่จะป้องกันโรคในหน้าร้อนได้ดีคือ เลือกทานอาหาร น้ำดื่ม ที่สด ใหม่ สะอาด เน้นอาหารปรุงสุก และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน อากาศต้องถ่ายเทสะดวก ส่วนห้องแอร์ก็ต้องเย็นอย่างพอเหมาะด้วยอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ไม่อย่างนั้นพอออกไปข้างนอกห้องอาจทำให้เกิดอาการวูบได้ง่ายๆ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้สนุกกับการใช้ชีวิตในช่วงหน้าร้อนนี้ได้แล้วค่ะ
ที่มา :