Emotional Abuse คือ การใช้ความรุนแรงในการทำร้ายจิตใจเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้คำพูดที่รุนแรง เพราะคำพูดเหล่านั้นเปรียบเสมือนอาวุธที่เมื่อได้ปล่อยออกไปแล้ว ก็จะสร้างบาดแผลที่ไม่มีวันเลือนให้แก่ลูกได้ ลองมาดูกันค่ะว่าคุณได้พูดคำแบบนี้กับลูกบ้างหรือเปล่า?
1. คำพูดที่แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด
เวลาที่เราโมโหก็มักจะพูดคำที่ใช้อารมณ์และแฝงไปด้วยความไม่พอใจ ทั้งน้ำเสียงและอารมณ์จะส่งผลให้ทุกอย่างแย่ไปหมด ยิ่งเราแสดงความรู้สึกโกรธออกไปมากเท่าใด เด็กก็จะซึมซับความรู้สึกโกรธได้มากเท่านั้น
2. คำพูดที่พูดย้ำ ถามซ้ำบ่อยๆ
หลายคนๆ คิดว่าการพูดซ้ำๆ ถามย้ำๆ จะทำให้ลูกจำในสิ่งที่เราต้องการให้เขาทำได้ ซึ่งการพูดซ้ำและย้ำมากเกินไปเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลยค่ะ เพราะนั่นแสดงถึงความวิตกกังวล และไม่ไว้ใจในตัวลูก เมื่อถามย้ำมากๆ จะทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจและวิตกกังวลตามไปด้วย
3. คำพูดที่กัดกร่อนใจ
เวลาที่เราพูดประชดประชัน พูดกระแนะกระแหนแบบจิกกัดให้เจ็บ พูดเพราะคิดว่าลูกจะสามารถตีความในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อหรือต้องการให้ลูกทำได้ คำพูดแบบนี้ถือเป็นคำพูดที่รุนแรงมากสำหรับเด็กนะคะ เมื่อลูกได้ยินจะเสียใจและเกิดภาพในใจที่ไม่ดี เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่มีค่าพอสำหรับพ่อแม่
4. คำพูดที่ไม่จริงหรือผิดสัญญา
การบอกให้ลูกทำในสิ่งที่เราต้องการ แล้วมีข้อแลกเปลี่ยนแต่กลับผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่น่าเชื่อถือและจะไม่ไว้วางใจในตัวพ่อแม่ อีกทั้งยังส่งผลให้ลูกคิดว่าการผิดสัญญาหรือการโกหกเป็นเรื่องที่ทำกันปกติ ลูกก็จะทำตามเพราะเห็นตัวอย่างจากพ่อแม่
5. คำพูดล้อเลียน
บางครั้งการที่เราล้อเลียนลูก ส่วนใหญ่จะเกิดจากความเอ็นดู ความหมั่นเขี้ยวและอยากจะแกล้ง แต่ถ้าล้อเลียนมากเกินไปนั่นจะทำให้ลูกเก็บเอาไปคิด และกลายเป็นคนเก็บกด รู้สึกว่าสิ่งที่พ่อแม่ล้อเลียนนั้นเป็นปมด้อย เช่น “ลูกใครทำไมดำขนาดนี้” ฟังครั้งแรกลูกอาจจะยังไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่อพ่อแม่พูดบ่อยเข้า ก็จะทำให้ลูกคิดมากและมองว่าสีผิวของตนนั้นเป็นปมด้อย จนทำให้เขากลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง หรือในอีกทางหนึ่งก็จะกลายเป็นคนโกรธง่ายหรือขี้โมโห เพราะมีคนไปกระเซ้าเย้าแหย่มากเกินไป
6. คำพูดเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น
การเปรียบเทียบอาจมาพร้อมกับความปรารถนาดีว่าอยากให้ลูกมีต้นแบบ และผลักดันตัวเองให้เก่งขึ้น แต่อย่าลืมว่าเด็กแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน หากเราจำกัดกรอบว่าลูกจะต้องเป็นแบบคนนั้น คนนี้อาจทำให้เขารู้สึกแย่กับตนเอง คิดว่าตนเองไม่มีความสามารถ ส่งผลให้เป็นคนไม่กล้าลงมือทำอะไรเพราะขาดความมั่นใจได้
ขอบคุณข้อมูลจาก