ความเกรงใจหรือใส่ใจคนอื่นเป็นเรื่องที่ดี แต่บางการกระทำของลูกเรานั้นก็ชอบให้คนอื่นเดินหมุนรอบตัวเองเกินไป ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะนิสัยแต่เพราะเขากำลังอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สอนให้รู้จักเกรงใจผู้อื่นตั้งแต่ตอนนี้ ก็สามารถทำให้เขานั้นอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น เพราะความเกรงใจผู้อื่นเป็นมารยาทพื้นฐานที่เด็กๆ ควรมีติดตัวไว้นั่นเองค่ะ
วันนี้ Parents One มาพาคุณพ่อคุณแม่ไปรู้จักกับวิธีสอนให้ลูกรู้จักเกรงใจคนอื่น จะมีแบบไหนบ้างมาดูกันเลย!
เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
คนใกล้ตัวที่ไหนไม่เท่าคุณพ่อคุณแม่ที่ใกล้ชิด ลูกสามารถที่จะเข้าใจและดูตัวอย่างง่ายๆ จากบุคคลที่มีอิทธิพลกับเขา คุณพ่อคุณแม่เองควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกน้อย และปฏิบัติเช่นเดียวกันกับลูก เพราะถ้าลูกรู้ว่าตนมีสิทธิ์ที่จะได้รับจากผู้อื่น เขาก็สามารถให้สิทธิ์นั้นกับผู้อื่นได้ด้วย รวมไปถึงการแสดงออกต่อผู้อื่นให้ลูกเห็น คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมข้อนี้ไปด้วยนะคะ
พาไปเจอกับสถานการณ์จริง
การพูดสอนและเป็นตัวอย่างของคุณพ่อคุณแม่นั้นดีมากแล้ว แต่ถ้าจะให้สามารถทำได้จริง ต้องให้ได้เจอสถานการณ์จริงๆ ลองให้ได้ไปอยู่กับผู้คนอื่นๆ ได้เจอเพื่อนๆ เพราะในชีวิตประจำวันย่อมเจอหลายสถานการณ์ ทำให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจในความเกรงใจในรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น รวมไปถึงความผิดพลาด เราไม่สามารถทำให้ใครต่อใครพอใจได้ตลอด เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดจึงสามารถเป็นบทเรียนให้ลูกน้อยของเราเติบโตมากขึ้น
นิทานสอนใจ
ถ้าลูกไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นคืออะไร สามารถใช้ความสนุกของภาพและเรื่องราวที่น่าสนใจของนิทานมาสอนให้เข้าใจได้ เพราะเด็กๆ ย่อมชอบเรื่องเล่าของนิทานอยู่แล้ว ยิ่งนิทานที่สามารถเล่าถึงเหตุผล ปัญหา และวิธีการแก้ปัญหานั้นได้ ก็จะยิ่งให้เขาเห็นภาพมากขึ้น ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในชีวิตจริงเขาอาจจะมีความรู้สึกบางอย่างให้เขาได้คิดได้และเริ่มที่จะเกรงใจผู้อื่น
เรียนรู้จากภาษากาย
คำพูดไม่ใช่สื่ออย่างที่เดียวที่จะส่งสารออกไปได้ ท่าทางของร่างกายก็เป็นสื่ออย่างนึงที่สามารถส่งสารแสดงออกไปได้ เด็กอาจจะฟังแค่คำพูดที่ถูกพูดใส่แต่ไม่ได้เข้าใจว่าภาษากายของเขานั้นหมายถึงอะไร เพราะได้แต่ตีความจากคำพูดเอา หรือการที่เขาไม่ได้พูดอะไรแต่แสดงออกทางภาษากายอย่างเดียว เด็กก็อาจไม่เข้าใจ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อย่างเราควรสอนให้เขาเข้าใจ
พูดคุยถึงความรู้สึก
การที่เขาเคยเป็นคนที่โดนเอาใจใส่ที่สุดในบ้าน แล้วต้องไปเจอสถานการณ์ที่ใครๆ ก็สามารถมีสิทธิ์เป็นของตัวเองได้ เขาอาจไม่ได้เข้าใจขนาดนั้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่พูดคุยถามไถ่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ในบางครั้งที่ผิดพลาด เราควรพูดคุยกันเพื่อที่เขาจะได้เข้าใจความรู้สึกของตัวเองว่าการที่รู้สึกไม่พอใจ แบบนั้นคือความรู้สึกอะไรกันแน่ แล้วควรที่จะจัดการความรู้สึกของตนเองแบบไหน คำแนะนำที่ดีที่สุดก็คงเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่รู้ว่าลูกของเราเป็นแบบไหน คำแนะนำแบบไหนที่เหมาะกับลูกของเรา
ทั้งนี้การเกรงใจผู้อื่นจะต้องอยู่ในกรอบที่เคารพในสิทธิ์ของตัวเอง ไม่เบียดเบียนตัวเองจนรู้สึกไม่สบายใจจนเกินไป คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและพูดคุยกับเขาเยอะๆ นะคะ ค่อยๆ เรียนรู้ลูกน้อยและสอนไปด้วยกันค่ะ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ mom.com stepping stone school