ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น ยังรวมถึงเด็กเล็กๆ อีกด้วย ในฐานะพ่อแม่ต้องเข้าใจผลลัพธ์ของการใช้มือถือ การดูหน้าจอเป็นเวลานานๆ ของเด็กๆ และรู้ว่าเราจะ “จัดการ” อย่างไรเมื่อลูกใช้เวลากับหน้าจอเกินขอบเขตด้วย แล้วจะมีวิธีรับมืออย่างไรไปดูกันค่ะ
1. ดูว่าลูกเล่นอะไรบนมือถือบ้าง
เดี๋ยวนี้สื่อและเกมออนไลน์มีหลากหลายมาก คุณพ่อคุณแม่ต้องตามลูกให้ทันและรู้ว่าสิ่งที่ลูกดู หรือเล่นมีอะไรบ้าง วิดีโอหรือสื่อบางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับวัยของพวกเขา มีถ้อยคำและภาพที่รุนแรง น่ากลัว จะต้องคอยชี้แนะให้กับลูก เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร หรือดีไม่ดีนั่นเอง
2. ค่อยๆ ร่นระยะเวลาเล่นให้น้อยลง
พ่อแม่ไม่สามารถห้ามให้ลูกเลิกเล่นในทันทีได้ ต้องค่อยๆ ลดจำนวนการเล่นลง สัปดาห์ละนิด วันละหน่อย พอให้เขาปรับตัวได้ หลังจากนั้นก็หากิจกรรมให้เขาทำเพื่อทดแทนการเล่นโทรศัพท์มือถือ
3. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
กำหนดเวลาที่เหมาะสมให้ลูก ในกรณีของเด็กเล็กไม่ควรเกินวันละครึ่งชั่วโมง คือให้ลูกดูได้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที โดยทุกครั้งจะต้องมีการตกลงกันก่อนว่าถ้าแม่บอกให้เลิกดู ก็คือต้องเลิก ไม่งั้นครั้งหน้าจะอดเล่น อาจใช้วิธีบอกว่าดูกี่เพลง จบเรื่องนี้และคอยเตือนเมื่อใกล้หมดเวลา เค้าจะได้รู้ตัวว่าใกล้ถึงเวลาต้องเลิกแล้วนะ ถ้าเป็นเด็กโตหน่อย เข้าใจเรื่องเวลาแล้วก็สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ว่าจากกี่โมงถึงกี่โมง อาจต้องมีการเตือนบ้างว่าเหลืออีก 5 นาที เหลืออีก 10 นาทีต้องเลิกนะคะ
4. ใช้เวลาอยู่กับลูกและหากิจกรรมอื่นให้ลูกทำ
ดีที่สุดคือชวนลูกทำอย่างอื่นที่สนุก สร้างสรรค์ ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง ออกไปเล่นเลอะเทอะแบบที่เด็กวัยเค้าควรจะเป็น โยนลูกบอล ต่อบล็อก ต่อ puzzle เล่นทราย วิ่งเล่น อ่านนิทาน ร้องเพลง เต้นด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอนในระยะยาว เชื่อว่าเหนื่อยตอนแรกในการปลูกฝังสิ่งที่ดีๆ ให้กับเค้าดีกว่าไปเหนื่อยตอนหลัง ตอนที่ลูกเริ่มโต เป็นวัยรุ่น มีความคิดเป็นของตัวเองค่อนข้างเยอะ และไม่อยากจะฟังพ่อแม่อีกแล้ว ถึงตอนนั้นความปวดหัวก็จะมากขึ้นทวีคูณค่ะ
5. พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
การที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะเลี้ยงลูกให้ดีได้ในยุคดิจิทัล เราควรมีวินัยในตัวเองก่อน หากเราใช้สื่อเทคโนโลยีมากเกินไปกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ลูก ควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ต่อหน้าลูก (โดยเฉพาะลูกเล็ก) อาจจะใช้โทรศัพท์ตอนที่ลูกไปโรงเรียนหรือนอนหลับ ให้เวลาที่อยู่กับเค้าเป็นเวลาที่มีค่าและสร้างสรรค์จริงๆ เพื่อให้มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพค่ะ
การที่เด็กติดจอจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษา และมีโอกาสเสี่ยงเป็นออทิสติกเทียม สมาธิสั้น เพราะเด็กจะถูกปล่อยให้นั่งเล่นคนเดียวเป็นเวลานานทำให้ขาดทักษะการสื่อสารกับผู้อื่นจึงพูดช้า มีทักษะการเข้าสังคมต่ำกว่าเด็กที่ออกไปทำกิจกรรม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ละเลยลูกๆ ในเรื่องนี้ค่ะ
ที่มา – trueplookpanya , insthinklearning