สายใยรักและความผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางอารมณ์ในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ เด็กทารกอายุ 6-8 สัปดาห์ จะเริ่มจดจำใบหน้าแม่ได้ และเมื่ออายุ 6 – 9 เดือน เป็นวัยที่เด็กเริ่มแสดงออกถึงพฤติกรรมที่สื่อถึงความผูกพันลึกซึ้ง ฉะนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกรักของเราไปติดคนอื่นมากกว่าตนเอง ลองไปดูทั้ง 6 กลยุทธ์พิชิตใจลูก ว่าจะมีกลยุทธ์อะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ
1. ดูแลเอาใจใส่อยู่ใกล้ๆ ลูก
ลูกต้องการอยู่ใกล้คนที่รัก คนที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจ โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัย 3 ปี (ก่อนเข้าเรียน) ที่ลูกจะได้อยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคนแปลกหน้ามากนัก หากคุณพ่อคุณแม่ทุ่มเทเวลาให้กับลูกอย่างสม่ำเสมอ คอยอยู่ใกล้ชิด ก็จะทำให้ลูกติดได้ไม่ยาก เช่นเดียวกันหากมีคนเลี้ยง (ญาติ หรือพี่เลี้ยง) ก็อาจทำให้ลูกติดคนเลี้ยงมากกว่าได้ ความใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะทำให้เกิดความผูกพันกับลูกมากขึ้น
2. ทำกิจกรรมที่ดีร่วมกันช่วยได้
การที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาให้ลูกคือหัวใจของการทำให้ลูกติดเรา โดยเริ่มจากการเล่นสนุกง่ายๆ ก่อน เลิกเขินอายที่จะเข้าหาลูก การพูดคุย เล่านิทาน พาลูกไปเล่น ออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาสนุกที่เด็กชื่นชอบ ลองใช้เวลาวันละ อย่างน้อย 30 นาทีหลังกลับจากทำงานทุกวันค่อยๆ สร้างบรรยากาศสนุกสนานร่วมกัน และความคุ้นเคยให้กับลูก ลองสังเกตว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น นิทานเรื่องโปรด ของเล่นชิ้นโปรด แล้วใช้สิ่งนั้นเป็นตัวช่วยในการเข้าหาลูก ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ในช่วงแรกอย่าใส่สาระความรู้หรือจริงจังมากเกินไปเพราะจะทำให้เด็กเบื่อได้ค่ะ
3. หาจุดเด่นของตัวคุณพ่อคุณแม่ให้เจอ
ความชอบของลูกสำคัญ โดยการลองสำรวจตัวเองว่ามีจุดเด่นอะไรที่พอจะเป็นประโยชน์บ้าง เช่น สามารถเลียนแบบเสียงสัตว์ต่างๆ ได้หลายเสียง คุยเก่ง หรือชอบเล่าเรื่องสนุกๆ ลองใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการเล่นสนุก แต่ต้องไม่ลืมสีหน้า ท่าทางและแววตาที่แสดงออกมาเวลาที่เข้าใกล้ลูก ต้องยิ้มแย้ม อ่อนโยน และแสดงถึงความอบอุ่นเพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจ
4. ไม่แสดงอารมณ์ไม่ดีต่อหน้าลูก
ลูกจะรู้สึกปลอดภัย ไว้ใจ ไม่ตื่นกลัว ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเหนื่อย หงุดหงิด โกรธหรือโมโหเรื่องอะไรมา เมื่ออยู่ใกล้ลูกไม่ควรแสดงอารมณ์หงุดหงิด โมโหหรือรำคาญต่างๆ ออกมาให้ลูกเห็น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ลูกอาจจะยังไม่ยอมห่างจากคุณพ่อหรือคุณแม่ ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิดหรือบังคับเพราะลูกจะสัมผัสถึงความรู้สึกนั้นได้ เพราะเด็กจะไม่เข้าใจ ทำให้ลูกตกใจ เกิดความกลัว ไม่อยากเข้าใกล้และยิ่งตีตัวออกห่าง หากมีเรื่องที่ไม่สบายใจ ควรปรึกษาคู่ชีวิตหลังไมค์ดีกว่าค่ะ
5. ส่งเสริมพัฒนาการของลูกให้ถูกวิธี
ส่งเสริมในสิ่งที่ดีเหมาะสม ไม่บังคับลูก เพราะพฤติกรรมบางอย่างของพ่อแม่คือการขัดขวางต่อพัฒนาการของลูก เช่น จู้จี้จุกจิก บังคับลูกให้ทำ หรือห้ามไม่ให้ลูกเล่นโดยเฉพาะในวัยเตาะแตะที่กำลังชอบสำรวจ รื้อค้น สนุกกับการเดินวิ่งเล่น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรห้ามในเรื่องที่ดูแล้วไม่เป็นอันตราย ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งรอบข้างด้วยตัวเองบ้าง คอยมองดูและให้กำลังใจเมื่อลูกทำสิ่งนั้นได้ดี แต่ถ้าลูกกำลังจะทำสิ่งที่เห็นว่าเป็นอันตราย เช่น คว้าสิ่งของมีคม ก็ควรเข้าไปห้ามด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนและบอกเหตุผลกับลูก ไม่ดุว่าด้วยเสียงดังเพราะจะทำให้ลูกตกใจกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้คุณอีก อีกทั้งไม่ควรตามใจลูกแบบผิดๆ เพื่อให้ลูกมาสนใจเรา
หากลูกติดพ่อหรือแม่ฝ่ายเดียว ก็ควรช่วยกันทำให้ลูกติดทั้งพ่อและแม่ เช่น หมั่นชมอีกฝ่าย พูดถึงสิ่งดีๆ ให้ลูกฟัง หรือเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้เป็นคนสร้างบรรยากาศภายในบ้าน แล้วชวนให้ลูกเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งจากที่ได้แนะนำวิธีการข้างต้นไปจะสังเกตได้ว่าทุกอย่างล้วนอยู่ที่การให้เวลากับลูก ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างสม่ำเสมอ หากมีความต่อเนื่อง ความผูกพันและสายใยรักนี้ก็จะอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ทำให้ติดพ่อแม่คนใดคนหนึ่ง หรือไปติดคนอื่นแน่นอนค่ะ
ที่มา – baby.kapook