‘ลูกติดจอ’ คือปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ ครอบครัว เป็นเพราะว่าเด็กในยุคปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า ‘เจนอัลฟ่า’ เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี จึงทำให้เขาสามารถใช้งานสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตได้อย่างคล่องแคล่ว จนในบางครั้งเขาอาจจะเล่นมากเกินไปจนกลายเป็นติดหน้าจอ อีกสาเหตุหนึ่งก็อาจเกิดขึ้นจากพ่อแม่ที่เป็นคนหยิบยื่นหน้าจอให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งการติดหน้าจอนั้นก่อให้เกิดผลเสียในหลายๆ ด้าน วันนี้เราจึงมีวิธีแก้ปัญหาลูกติดจอที่หากพ่อแม่ทำได้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างได้ผลมาฝากค่ะ
ให้เวลาคุณภาพกับลูก
เวลาคุณภาพ เป็นคำที่คุณพ่อคุณแม่น่าจะได้ยินกันบ่อย นั่นคือการใช้เวลากับครอบครัวในการสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นนั่นเอง โดยเด็กที่ติดจอทั้งแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนนั้น ส่วนมากจะเกิดจากการที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ จนใช้หน้าจอเป็นพี่เลี้ยง เพราะเห็นว่าลูกอยู่นิ่ง ไม่ซน ไม่มาก่อกวนเวลาที่เราทำงาน ดังนั้นอย่างแรกที่ควรทำคือการให้เวลาคุณภาพกับลูกอย่างแท้จริง แต่ไม่ใช่ว่ามานั่งอยู่ด้วยกัน แต่กลับทำอย่างอื่น ไม่สนใจลูก แบบนั้นไม่ถูกต้อง
ทางที่ดีคือใช้เวลาอยู่กับลูก และสนใจจริงๆ ว่าเขากำลังทำอะไร เล่นอะไร และเล่นเป็นเพื่อนลูก ไม่ต้องใช้เวลามาก เพียงครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อแสดงให้เขาเห็นจริงๆ ว่านี่คือเวลาที่พ่อแม่ใช้กับลูกอย่างมีคุณภาพ แต่ถ้ายิ่งใช้เวลามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น
อีกวิธีหนึ่งคือ เมื่อมีเวลาอยู่ด้วยกันแล้ว เราอาจนำกล่องเปล่ามาตั้งไว้กลางบ้าน แล้วให้ทุกคนเอาสมาร์ตโฟนมาวางไว้ในช่วงเวลาของครอบครัว เพื่อที่แสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อกับแม่พร้อมให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ พอทำไปนานๆ เข้า ลูกก็จดจำ และรอเวลาที่จะได้เล่นกับพ่อแม่ จนค่อยๆ ลดการใช้หน้าจอลงไปในที่สุด
กำหนดเวลาในการเล่นอย่างชัดเจน
กฎกติกา เป็นสิ่งที่ทุกบ้านจำเป็นจะต้องมี ไม่ว่าเราจะเลี้ยงลูกแบบเพื่อนหรือปล่อยให้เขาได้ลองทำอะไรตามใจตัวเองขนาดไหนก็ตาม เพราะถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องรู้จักเคารพกฎและกติกาที่มีอยู่ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรต้องกำหนดเวลาในการเล่นสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตของลูกอย่างชัดเจน เช่น เล่นได้กี่ชั่วโมง เล่นได้ตอนไหน หรือต้องทำอะไรเสร็จก่อนถึงจะเล่นได้
โดยปกติแล้ว ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรเล่นหน้าจอโดยเด็ดขาด ส่วนอายุ 2-3 ปี สามารถเล่นได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง แต่ไม่ให้เล่นเลยจะเป็นการดีที่สุด และอายุ 3 ปีขึ้นไปสามารถเล่นได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวันเช่นกัน แต่ยิ่งเล่นน้อยยิ่งดีต่อพัฒนาการ ที่สำคัญที่สุด พ่อแม่ควรจะนั่งเล่นอยู่กับลูก ห้ามปล่อยให้เขาเล่นคนเดียวโดยเด็ดขาด
ส่วนในเด็กวัยเรียนอาจจะกำหนดเป็นวันธรรมดากับวันหยุด เช่น วันธรรมดาเล่นได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง วันหยุดเล่นได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งพอครบเวลาแล้วต้องหยุดเล่นทันที หรือถ้าเกินก็จะมีการตัดโควตาของวันต่อไป โดยเราต้องเตือนลูกก่อนจะหมดเวลาสัก 15 นาที เพื่อให้เขาเตรียมตัวเลิกเล่น และเมื่อมีกฎกติกาแล้ว พ่อแม่ต้องห้ามใจอ่อน อาจดูเป็นกรณีตามความเหมาะสมได้ แต่ห้ามใจอ่อนแบบพร่ำเพรื่อ ไม่เช่นนั้นลูกก็จะคิดว่ากฎกติกาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยึดถือ
หากิจกรรมอย่างอื่นที่สนุกกว่าหน้าจอ
เด็กที่ติดหน้าจอ เป็นเพราะเขารู้สึกว่าในนั้นมีสิ่งที่สนุก และรวดเร็วทันใจ ดูการ์ตูนเรื่องนี้จบก็จิ้มเลือกเรื่องต่อไปได้อย่างรวดเร็ว หรือเล่นเกมในสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตก็สนุกสนาน อีกทั้งยังมีเกมมากมายให้เลือกสรร ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าการที่เด็กติดหน้าจอมากเกินไปมีผลเสียต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเขามากกว่าที่คิด และการที่เขาติดจออาจเพราะไม่รู้ว่ามีสิ่งที่สนุกกว่ารอเขาอยู่นอกจอ
ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องหากิจกรรมที่สนุกกว่า มาให้เขาลองทำ เพื่อดึงเขาออกมาจากหน้าจอให้ได้ โดยอาจเริ่มจากสิ่งที่เขาสนใจก่อนที่จะติดหน้าจอ เด็กบางคนอาจชอบเล่นปั้นแป้งโดว์มาก เราก็ชวนเขามาทำแป้งโดว์ DIY ด้วยกัน นั่นก็จะเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในสิ่งที่เขาไม่เคยทำ หรือพาเขาออกไปท่องเที่ยว สัมผัสธรรมชาติมากขึ้น พาไปทำกิจกรรมนอกเวลาต่างๆ เพื่อค้นหาตัวตนและความชอบ
ในช่วงแรกอาจต้องใช้เวลา แต่ถ้าเขาเริ่มสนุกกับกิจกรรมที่ทำ ก็ถือว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มประสบความสำเร็จแล้วล่ะค่ะ
พูดให้ลูกเข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียของสมาร์ตโฟน
สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตไม่ได้เป็นตัวร้าย แต่อยู่ที่คนใช้งานมากกว่า ว่าจะใช้งานได้อย่างถูกต้องมากแค่ไหน ซึ่งเด็กๆ ไม่มีทางรู้อยู่แล้วว่าสิ่งเหล่านี้มีไว้ใช้ทำอะไร เขารู้เพียงแต่ว่าพ่อแม่เป็นคนหยิบยื่น เอาไว้ให้เขาใช้เล่นเกม ดูการ์ตูน เมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลา ฉะนั้นพ่อแม่จึงควรบอกลูกให้ชัดเจนถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้หน้าจอ ทั้งสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต
คุณพ่อคุณแม่อาจบอกลูกถึงข้อดีคือ เอาไว้ใช้ติดต่อสื่อสารในยามที่เราอยู่ห่างไกลกัน จะได้คลายความคิดถึง เราสามารถใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตในการค้นหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่เคยรู้มาก่อน ในบางครั้งก็ใช้ผ่อนคลายความเหนื่อยล้า ใช้ดูหนัง ฟังเพลงและเล่นเกมได้ แต่ถ้าเกิดเราใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง คือ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ อย่างลูก อาจมีการยกตัวอย่างข่าวที่เคยเกิดขึ้น เพื่อทำให้ลูกเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้นก็ได้
พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้จอ
เด็กมักเลียนแบบจากสิ่งที่เห็น เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่า ลูกคือกระจกสะท้อนเงาของพ่อแม่ พ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็เป็นอย่างนั้น การที่ลูกติดหน้าจอ พ่อแม่ต้องลองย้อนกลับมาดูตัวเองเสียก่อน ว่าเรารึเปล่าที่เป็นสาเหตุทำให้ลูกกลายเป็นเด็กติดจอ เราเองรึเปล่าที่หยิบยื่นสมาร์ตโฟนไปให้เขา ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น พ่อแม่ก็คงต้องปรับแก้ที่ตัวเองก่อน คือเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตอย่างถูกที่ ถูกเวลา และใช้อย่างเหมาะสมให้ลูกเห็น
วิธีการง่ายๆ ที่ทุกบ้านสามารถทำได้ก็คือ พยายามใช้สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตต่อหน้าลูกให้น้อยที่สุด เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้เราต้องติดต่องานผ่านทางสมาร์ตโฟน แต่ถ้าอยากให้ลูกเลิกติดหน้าจอจริงๆ เราอาจต้องกำหนดเวลาในการใช้งานของเรา เช่น ใช้หลังลูกหลับ หรือถ้าเร่งด่วนก็ไปใช้ในจุดที่ลูกไม่เห็น อาจดูลำบาก แต่ก็เป็นวิธีที่ได้ผล หรือเวลาที่ทานข้าวก็ไม่ควรเล่นสมาร์ตโฟนเลย พอลูกเห็นบ่อยๆ เข้า เขาก็จะซึมซับเองว่าเวลาไหนควรหรือไม่ควรเล่น
และนี่ก็คือ 5 วิธีในการแก้ปัญหาลูกติดจอ ถ้าหากพ่อแม่ทำตามทั้งหมดนี้ได้ มั่นใจได้เลยว่าการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาลูกติดจอก็จะค่อยๆ เห็นผลมากยิ่งขึ้นค่ะ
สนับสนุนโดย : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์