เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่ปีที่สอง พ้นจากวัยทารก ลูกน้อยเริ่มโตขึ้น เป็นวัยที่หนูน้อยรู้ความมากกว่าเดิม ซึ่งนอกจากพัฒนาการด้านร่างกายของลูกน้อยจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว พัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ก็พัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นกัน ลองสังเกตดูว่ามีสัญญานอะไรบ้างที่ลูกกำลังบอกเราว่า “หนูโตแล้วนะ”
1. หนูน้อยหิวบ่อย
ลูกน้อยต้องการสารอาหารและพลังงานมาก และบ่อยครั้งกว่าผู้ใหญ่ เราไม่สามารถยึดมื้ออาหารแบบผู้ใหญ่ได้ เพราะหนูน้อยต้องใช้พลังงานในการเจริญเติบโต พัฒนาการด้านร่างกาย เป็นช่วงที่สร้างเซลล์กล้ามเนื้อและฮอร์โมนต่างๆ กำลังเจริญเติบโต คุณแม่ควรมีมื้อว่างให้ลูกบ้าง นอกจากนี้การให้ลูกดูดนมจากเต้าบางทีมีน้ำนมน้อยและไม่ต่อเนื่องเหมือนดูดนมจากขวด เป็นเหตุผลว่าทำไมลูกรักถึงงอแงในบางครั้งที่ให้ดูดนมจากเต้านั่นเองค่ะ
2. ต้องการเป็นตัวของตัวเอง
หนูน้อยเริ่มมีพัฒนาการที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จึงแสดงออกด้วยความใจร้อน หนูอยากทำสิ่งต่างๆ ถึงจะยังทำเองไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดทางร่างกายและต้องการได้รับการตอบสนองจากทุกสิ่ง สิ่งที่คุณแม่ต้องทำคือ อย่าตอบสนองสิ่งที่ลูกต้องการเร็วเกินไป เมื่อลูกเรียกร้องไม่จำเป็นต้องรีบตามลูก ควรจะค่อยๆ ทำให้เป็นแค่เรื่องปกติ ลูกจะเข้าใจได้ด้วยตัวเองว่าถ้าต้องการอะไรควรจะทำแบบไหนคุณแม่ถึงจะเข้าใจและทำตามที่ต้องการ
3. อย่ากวนตอนหนูนอนนะ
วัยอย่างหนูชอบงีบกลางวัน แต่บางครั้งต้องไปนอกบ้านกับคุณแม่ทั้งวัน เลยพาลหงุดหงิดเอาง่ายๆ จากการสอบถามของคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านพบว่า หนูน้อยบางคนจะนอนเยอะ แต่เด็กบางคนจะนอนน้อย แต่หนูน้อยที่นอนเยอะ จะทำให้เจริญเติบโตได้ดีกว่าเด็กที่นอนน้อย เนื่องจากขณะที่ลูกนอนหลับ ร่างกายจะมีการสร้าง Growth Hormone ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโต ดังนั้น ทางที่ดีคุณแม่อย่าไปกวนหนูน้อยเวลานอนหลับจะดีที่สุดค่ะ
4. ดื้อเป็นพิเศษ
หนูน้อยเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งบางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะมองว่าเป็นเด็กดื้อ เพราะลูกจะเชื่อฟังเราน้อยลง แต่จริงๆ อาจเกิดจากความหิวหรือความเหนื่อยล้าเป็นพิเศษ ทำให้ลูกงอแง ด้วยความเหงา เบื่อ เซ็ง ที่พอหนูทำตัวดีแล้วทุกคนก็หายไปทำธุระตัวเองกันหมด สู้กินข้าวหก ทำของแตกไม่ได้ คุณแม่เป็นต้องวิ่งมาดูก่อนใคร ถึงจะมีเสียงดุว่าตามมาก็ยังดีกว่าอยู่คนเดียว
5. หนูน้อยเรียนรู้ได้เร็ว
เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ทำให้หนูน้อยก็อยากทำความรู้จักกับโลกกว้างให้มากขึ้น เด็กๆ จะมีความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้และค้นพบสิ่งใหม่ๆ รู้จักเรียนรู้ได้เองและรวดเร็วมาก ด้วยการลงมือทำ เช่น หนูๆ บางคนจึงชอบกดปุ่มโทรศัพท์เล่น ดึงหางแมว ใช่ว่าจะเอาแต่ใจตัวเองหรือเอาแต่ซนซะหน่อย
เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ไม่ว่าจะช่วงวัยไหนก็ตาม เขาย่อมต้องการพื้นที่ที่จะได้เล่น ได้เรียนรู้อย่างอิสระ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยชื่นชมและให้กำลังใจเขาอยู่ไม่ห่าง เพียงคุณพ่อคุณแม่เข้าใจพัฒนาการและพฤติกรรมของลูกน้อย ก็จะสามารถรับมือพฤติกรรมลูกน้อยได้ไม่ยากค่ะ
ที่มา :