Parents One

5 สาเหตุที่ลูกกรี๊ดทั้งวัน จะแก้อย่างไรไปดูกัน!

บางวันก็กรี๊ด บางทีก็วีน อยู่ดีๆก็ร้อง ตะโกนได้ทุกเวลารวมถึงหลัง 3 มื้ออาหาร เป็นเรื่องเข้าใจได้ยากเหลือเกินสำหรับเจ้าตัวเล็กที่อายุเข้าที่ 2-3 ขวบ ทำเอาพ่อแม่ต้องวุ่นวายใจ และกังวลกับพัฒนาการของเขาว่าอาจจะมีความไม่ปกติในเรื่องใดหรือเปล่า

ทำไมจู่ๆ ถึงชอบกรี๊ด ทำไมจู่ๆ ก็โวยวาย อันนี้ผิดปกติรึเปล่า? เราจะมาดูสาเหตุและวิธีแก้ไขไปด้วยกันนะคะ!

ยังสื่อสารได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่

บางทีเราจะเห็นว่า ลูกดีใจก็กรี๊ด ลูกไม่พอใจก็กรี๊ด หรือบางครั้งไม่มีเหตุผลอะไรเลยก็อยากกรี๊ดก็กรี๊ดขึ้นมา นั่นเพราะเขาพึ่งรู้จักศัพท์และการพูดมาไม่นาน ทำให้การสื่อสารของลูกยังไม่เต็มประสิทธิภาพที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความต้องการของเขาได้ในทันที ดังนั้นเด็กๆ จึงเริ่มมีอารมณ์ของความหงุดหงิดเข้าแทรก ทำให้การสื่อสารออกมาในเชิงตะโกนโวยวาย, กรี๊ดไม่ยอมหยุดจนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ

ฉะนั้นเวลาแสดงอารมณ์ของลูก ผู้ปกครองหรือบุคคลอื่นจึงจะถูกกรี๊ดหรือโวยวายใส่มากกว่าการพูดด้วยเสียงธรรมดาๆ หรือใช้เหตุผลในการพูดคุย

วิธีแก้ไข

สอนให้ลูกสื่อสารด้วยเหตุด้วยผล แม้ว่าเราจะเห็นแล้วว่าลูกโวยวายหรือกรี๊ดใส่ ต้องทำใจเย็น และค่อยพูดค่อยบอกเพื่อแสดงความสงบให้ลูกเห็น เมื่อเขาเห็นว่าเราใช้ความอดทนและพยายามพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบไม่ใส่อารมณ์ ลูกจะเริ่มเกิดการคิดตามและพยายามพูดคุยกับเรามากขึ้นแทนการกรี๊ดหรือตะคอกอย่างแน่นอน และยิ่งฝึกให้เป็นนิสัยก็จะยิ่งทำให้ลูกจดจำไว้ตลอดว่าต้องใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เช่น ” หนูไม่พอใจเรื่องนี้เพราะแบบนี้หรือเปล่า บอกคุณพ่อสิคะ “, “กรี๊ดแบบนี้ คุณแม่ไม่เข้าใขจเลยครับ ว่าลูกอยากได้อะไร ค่อยๆ พูดให้คุณแม่ฟังได้มั้ยครับ ”

ปรับตัวไม่ทันกับการเจริญเติบโต

เพราะวัยเด็กในช่วงระยะ 1-3 ขวบแรกนั้น ผ่านไปเร็ว ทั้งเป็นช่วงต้นของการที่ลูกต้องเข้าสังคม, ต้องรู้จักการดูแลตัวเองในเบื้องต้น, ร่างกายก็ยืดขยายจากเดิมมากรวมไปถึงฮอร์โมนในร่างกายพึ่งเริ่มปรับสมดุลเกี่ยวกับเพศ และอารมณ์ ทำให้ก่อเกิดความรู้สึกกระสับกระส่ายและส่งผลต่ออารมณ์ได้ง่ายมาก ลูกจึงมีอาการหงุดหงิดอยู่บ่อยครั้ง, รู้สึกอะไรก็ไม่ถูกใจตลอดเวลา

จึงส่งผลให้อารมณ์ของเขาตามไม่ทันความต้องการที่จะสื่อสารหรือแสดงออก จึงกลายเป็นการกรี๊ดหรือโวยวายเท่านั้น

วิธีแก้ไข

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกก่อนตัดสินใจว่าเขาใช้อารมณ์อย่างไร้เหตุผล เพราะบ่อยครั้งที่พอเราเห็นลูกโวยวาย และกรี๊ด พ่อแม่มักจะคิดไปก่อนแล้วว่าเขาก้าวร้าว นิสัยไม่ดีจะต้องดุเขาแรงๆ เพื่อให้หยุดซึ่งหากทำความเข้าใจก่อนว่า นี่คือพัฒนาการอย่างหนึ่งในเรื่องอารมณ์ของเขา ต้องหมั่นสังเกตและค่อยๆ ไล่ตามลูกไปเป็น step เช่น ลูกกำลังกรี๊ด, ตะโกนเพราะพ่อแม่ทำไม่ถูกใจ ต้องหาสิ่งเบี่ยงความสนใจเพื่อดึงเขาให้ออกมาจากอารมณ์ที่กำลังพุ่งพล่าน เมื่อเขาเริ่มสงบลงจึงค่อยถามไถ่สิ่งที่ต้องการ และค่อยสอนวิธีการแสดงออกที่เหมาะสม

อยากเป็นคนสำคัญเสมอ

เมื่อโลกของลูกกว้างขึ้น ก็จะได้พบเจอกับเด็กอีกหลายต่อหลายคน รวมไปถึงสังคมใหม่ๆ ให้เขาได้รู้จักซึ่งโดยปกติแล้วในโลกของลูก เขามักเป็นที่หนึ่งของพ่อแม่เสมอ เมื่อรับรู้ได้ว่าตนกำลังจะถูกแย่งความรัก หรือกลายเป็นที่สองรองจากคนอื่นอย่างการที่พ่อแม่มีน้องหรือหลาน, พบเจอเด็กคนอื่นแล้วชื่นชม อาการกระจองอแงก็จะเริ่มขึ้นโดยไม่สามารถหยุดได้ เพราะเด็กนั้นไร้เดียงสา รู้สึกอย่างไรก็จะแสดงอาการออกมาตรงๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ทำให้การกรี๊ดหรือการโวยวายนั้นช่วยให้ทุกคนหรือผู้ปกครองรีบกลับมาสนใจเขาอย่างรวดเร็ว เด็กจึงมักเลือกจะใช้วิธีนี้ในการเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่

วิธีแก้ไข

ให้กำลังใจ, มีเวลาให้ และทำให้ลูกรู้ตัวเสมอว่าเขามีความสำคัญกับพ่อแม่เพียงไร เมื่อลูกทำสิ่งใดสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการติดกระดุมเอง, เก็บของเล่นเข้าที่ทางเก่ง ต้องหมั่นชมให้เขารู้สึกได้รับความใส่ใจ และได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งการชมนั้นต้องเป็นการชมที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป เช่น ” วันนี้ทานข้าวหมดจาน เก่งมากๆ เลยค่ะ วันต่อไปคุณแม่จะทำของโปรดให้เลยนะ “, ” เข้าห้องน้ำคนเดียวได้แล้วใช่มั้ย พ่อภูมิใจในตัวลูกมากๆ เลยครับ ”

ติดมาจากการใช้อารมณ์ของผู้ใหญ่

แน่นอนว่าบางพฤติกรรมนั้นจะโทษเด็กเสียอย่างเดียวก็คงไม่ได้เพราะในบางพฤติกรรมก็อาจพบเห็นหรือจดจำมาจากผู้ใหญ่และเลียนแบบตาม ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะกันภายในครอบครัว, คนรอบตัวรึแม้แต่สื่อตามจอต่างๆ อย่างโทรทัศน์, โซเชียลและการใช้หน้าจอ ทำให้เขาซึมซับพฤติกรรมแบบนั้นมาโดยไม่ได้คำนึงว่าสิ่งนี้ทำแล้วดีหรือไม่ สิ่งที่ทำให้เด็กจดจำไปใช้มากที่สุดคือถูกผู้ปกครองใช้อารมณ์และต่อว่าเช่นนั้น

ดังนั้น บางครั้งการที่ลูกกรี๊ดหรือโวยวายกลับก็อาจจะเป็นการตอบโต้ที่เขาถูกพ่อแม่ตะคอกและโวยวายใส่ได้เพราะคิดว่านี่คือวิธีการสื่อสารที่เขาสามารถทำได้เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำ

วิธีแก้ไข

ต้องเริ่มจากการปรับพฤติกรรมของตัวผู้ใหญ่เองเพื่อไม่ส่งต่อสิ่งที่ไม่ดีให้กับลูกไปเลียนแบบตาม หากมีปากเสียงไม่ควรมีให้ลูกเห็น, หากเห็นว่าผู้ใหญ่รอบตัวแสดงกริยาไม่เหมาะสม รีบพาลูกให้ออกจากสถานการณ์ปึงปัหรือเกิดการทะเลาะเบาะแว้งรุนแรง ในกรณีที่ตัวเราเองก็เป็นคนชอบโวยวายหรือแสดงอารมณ์รุนแรงก็ต้องฝึกควบคุมอารมณืให้เก่งขึ้น, พยายามระงับความโกรธหรือการเอาชนะที่เกินพอดี

วัยนี้คือวัยแห่งอารมณ์

ด้วยวัยของลูกนั้นอยู่ในช่วงของการพัฒนาการที่เกี่ยวกับการรับฟัง, เข้าใจเรื่องของเหตุ และผล ซึ่งมันค่อนข้างจะมีผลอย่างมากกับความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ที่มีความต้องการ ต้องเลือกระหว่างทำให้ถูกใจตามกฏระเบียบ หรือจะทำตามความถูกใจตน เช่นเด็กอยากได้ของเล่นชิ้นนี้ ในส่วนเหตุผลรู้ดีว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องไม่ซื้อให้แน่ๆ ก็จะพยายามใช้วิธีร้องขอแทน และเมื่อการตอบรับเป็นจริงที่จะต้องขัดใจในส่วนของความต้องการ อารมณ์เสียอกเสียใจก็จะชนะและทำให้ร้องไห้โวยวาย, กรี๊ดตะโกนในที่สุด

จึงเป็นเรื่องที่ยากอยู่บ้างที่ลูกจะต้องตัดสินใจกันว่าจะตามใจตัวเองหรือใช้เหตุผลในการทำหรือพูดในสิ่งที่ต้องการ

วิธีแก้ไข

ตั้งกฏเกณฑ์และกติกาให้ชัดเจนในบ้าน เพราะลูกต้องการสิ่งยึดหลักในการใช้ตัดสินใจสิ่งต่างๆ ถ้าผู้ปกครองมีกฏที่แน่นอนจะช่วยให้เขาแบ่งความสำคัญได้มากขึ้นเกี่ยวกับการใช้อารมณ์กับเหตุผลในทุกๆ เรื่อง เช่นการตั้งกฏเกี่ยวกับการทานอาหาร, เข้าห้องน้ำ, ขนมหรืออย่างการบอกความรู้สึกตนเองในตอนนั้นว่ารู้สึกเช่นไรก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยให้เขาบอกอารมณ์ตัวเองออกมาได้ดีที่สุด อาทิ

” ต้องทานเนื้อสัตว์ให้หมดทุกครั้งในแต่ละมื้อถึงจะได้ทานขนมต่อนะ ”

” เมื่อปวดเข้าห้องน้ำต้องบอกพ่อหรือแม่ทุกครั้งนะคะ จะได้พาไป ไม่ร้องโวยวาย ”

” หนูไม่ชอบสีไหน บอกพ่อมาได้นะ พ่อจะได้ซื้อสีที่หนูชอบ แต่หนูต้องบอกดีๆ นะคะ ไม่ร้องไห้ สัญญาเกี่ยวก้อยกันนะคนเก่ง ”

 

ที่มา : amarinbabyandkids , islammoremgronline