ในอดีตอาหารชาววังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้คนในวัง โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 5 มีการคิดค้นเมนูอาหารชาววังจำนวนมาก หลากหลายเมนูบางเมนูยังคงเป็นที่นิยมมากจนถึงปัจจุบัน แต่อีกหลายเมนูก็เริ่มหายไปตามกาลเวลา วันนี้ทาง Parents One จะมาแนะนำสูตรอาหารตำหรับชาววังที่เด็กๆ สมัยนี้ไม่ค่อยรู้จัก เป็นเมนูที่ทานง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไปดูกันค่ะว่าจะมีเมนูอะไรบ้าง
เมนูที่ 1 : แสร้งว่ากุ้ง
ภาพจาก – Chef McDang
แสร้งว่ากุ้ง อาหารไทยโบราณที่ทำได้ง่ายๆ ใช้กุ้งสุกมาคลุกเคล้ากับผักและสมุนไพรต่างๆ ปรุงรสเปรี้ยว เค็ม หวาน คล้ายกับยำแต่ไม่มีรสเผ็ด
ส่วนผสม
- กุ้งใหญ่ 4 ตัว
- ขิงซอย 2 ช้อนโต๊ะ
- หอมแดงซอย 2 ช้อนโต๊ะ
- ต้นหอมซอย 2 ช้อนโต๊ะ
- ผักชีซอย 2 ช้อนโต๊ะ
- ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
- ใบมะกรูดซอย 1 ช้อนโต๊ะ
- มะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- นำกุ้งไปลวกให้สุก จากนั้น หั่นเฉียงเป็นชิ้นๆ
- อ่างผสมใส่น้ำมะขามเปียก น้ำมะกรูด น้ำตาล น้ำปลา คนส่วนผสมให้เข้ากัน
- ใส่กุ้ง ขิง หอมแดง ต้นหอม ผักชี ตะไคร้ ใบมะกรูด เคล้าเบาๆ ให้เข้ากัน ใส่จานเสริฟ
สูตรจาก – foodtravel.tv
เมนูที่ 2 : หรุ่ม
ภาพจาก – ThaiPBS
หรุ่ม เป็นอาหารว่างไทยโบราณปรากฏชื่อในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานใน
ส่วนผสม
- หมูสับละเอียด 1 ถ้วยตวง
- กุ้งสับละเอียด 1/2 ถ้วยตวง
- หอมใหญ่สับเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 1/4 ถ้วยตวง
- พริกชี้ฟ้าแดงหั่นฝอย 3 เม็ด
- ผักชีเด็ดเอาแต่ใบ 1/4 ถ้วยตวง
- ถั่วลิสงคั่วบุบ 1/4 ถ้วยตวง
- น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
- พริกไทย 5-8 เม็ด
- กระเทียม 4 กลีบ
- น้ำตาล 3 ช้อนโต๊ะ
- รากผักชี 1 ราก
- ไข่เป็ดตีให้เข้ากัน 5 ฟอง
วิธีทำ
- โขลกรากผักชี กระเทียมและพริกไทย ให้ละเอียด ตักขึ้นมาพักไว้
- ตั้งน้ำมันในกระทะบนไฟร้อนปานกลาง แล้วเอาส่วนผสมที่โขลกเตรียมไว้ลงไปผัดจนหอม
- จากนั้นใส่หมู กุ้งและหอมใหญ่ลงผัดให้สุก ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ถั่วลิสง ผัดจนแห้ง จึงปิดไฟ
- ตั้งกระทะบนไฟร้อนปานกลาง ทาน้ำมันให้ทั่วก้นกระทะ พอกระทะร้อน
- ใช้มือจุ่มไข่และสะบัดให้เป็นตารางขนาดใหญ่พอห่อได้ 1 คำ
- พอไข่สุกค่อยๆ แคะขึ้นมาวางพักไว้บนจาน ทำเช่นนี้จนไข่หมด
- การห่อ นำแผ่นไข่ที่ทำไว้วางบนพื้นเรียบสะอาด จากนั้นวางพริกแดงและผักชีลงที่กลางแผ่นไข่
- ตักไส้พอคำวางทับพริกและผักชี พับห่อให้เป็นรูปสี่เหลียม ห่อจนหมด
- จัดใส่จาน ตกแต่งหน้าด้วยใบผักชี เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ หรือเป็นของว่างทานเล่นก็ได้ค่ะ
สูตรจาก – ezythaicooking.com
เมนูที่ 3 : ต้มจิ๋ว
ภาพจาก – Kullastree Online
ตำรับสายเยาวภา เมนูนี้เป็นเมนูทรงโปรดของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่ทรงประชวร เป็นแกงกึ่งต้มจืดกึ่งต้มยำ เน้นใส่พืชสมุนไพรไทย เช่น หอมแดง กะเพรา โหระพา บวกกับโปรตีนชั้นดีอย่างเนื้อวัวและคาร์โบไฮเดรตชั้นยอดจากมันเทศ
ส่วนผสม
- เนื้อสันในวัว 500 กรัม
- มันเทศหั่นเป็นท่อน 1 หัว
- หัวหอม (ซอย) 1/2 ถ้วย
- ใบกะเพรา 1/4 ถ้วย
- ใบโหระพา 1/4 ถ้วย
- พริกขี้หนู (บุบ) 10 เม็ด
- น้ำมะขามเปียก 1/4 – 1/2 ถ้วย
- น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- ล้าง และเลาะพังพืดเนื้อวัวให้สะอาด จากนั้นหั่นเป็นลูกเต๋า พักไว้
- หม้อใส่น้ำ ต้มให้เดือด ใส่เนื้อ คอยช้อนฟองออก (ปิดฝาแบบแง้มไว้) ตั้งไฟอ่อน เคี่ยวจนเนื้อเปื่อย
- ใส่มันเทศ ต้มต่อรอให้มันเปื่อย
- ใส่น้ำมะขามเปียก หอมซอย รอให้เดือดอีกครั้งใส่ใบกะเพรา ปิดไฟ
- ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา พริกขี้หนู ใส่ถ้วยเสิร์ฟ
สูตรจาก – foodtravel.tv
เมนูที่ 4 : หมูโสร่ง
ภาพจาก – LINE Today
เป็นอาหารว่างหน้าตาคล้ายลูกตะกร้อ วิธีทำนั้นไม่ยุ่งยากเท่าไรนัก แต่ต้องอาศัยความใจเย็นเพราะต้องมีความพิถีพิถันในการนำหมี่ซั่วลวกพันรอบหมูสับปรุงรสที่ปั้นเป็นก้อนค่ะ
ส่วนผสม
- เนื้อหมูบดละเอียด 200 กรัม
- รากผักชีโขลกละเอียด 2 ช้อนชา
- กระเทียมโขลกละเอียด 2 ช้อนชา
- พริกไทยป่น 1/2 ช้อนชา
- เกลือ 1/4 ช้อนชา
- น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
- ไข่ไก่ 1 ฟอง
- น้ำมันสำหรับทอด 3 ถ้วย
- เส้นหมี่ซั่วขาว 100 กรัม
วิธีทำ
- นำหมูที่บดไว้ใส่ภาชนะ ตามด้วยรากผักชี กระเทียม น้ำปลา เกลือ และพริกไทยป่น นวดให้เข้ากัน
- เมื่อเข้ากันประมาณหนึ่งแล้ว ตอกไข่ลงไปแล้วนวดอีกครั้ง ไข่จะช่วยให้เนื้อหมูมีความหนืดและเหนียวนุ่ม
- เมื่อเนื้อหมูมีความหนืดมือแล้ว ปั้นเป็นลูกกลมแบบพอดีคำ
- จากนั้นหยิบเส้นหมี่ซั่วที่ลวกแล้วผึ่งในตะแกรงประมาณ 3-4 เส้น
- นำมาพันหมูที่เราปั้นไว้ให้เป็นก้อนกลมเหมือนลูกตะกร้อ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนหมด
- วางใส่ถาดแล้วนำผ้าขาวบางมาคลุมไว้ ตั้งกระทะ ใช้ไฟอ่อนหรือกลาง ใส่น้ำมัน
- นำก้อนหมูที่พันแล้วไปทอดในกระทะ ทิ้งไว้ในกระทะสักพัก จนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทอง
- เมื่อสุกแล้วตักขึ้นสะเด็ดน้ำมัน เสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มพร้อมลิ้มรสค่ะ
สูตรจาก – parpaikin.com
เมนูที่ 5 : แกงรัญจวน
ภาพจาก – adrenalinerushdiaries.com
ด้วยกลิ่นหอมของน้ำซุปที่ใส่น้ำพริกกะปิลงไปด้วย จึงเป็นที่มาของความหอมรัญจวนนั่นเอง โดยปกติแล้วจะใช้เนื้อเป็นวัตถุดิบหลัก แต่ถ้าใครไม่กินเนื้อก็สามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบอย่างอื่นได้ เช่น หมู ไก่ หรืออาหารทะเลได้ตามชอบค่ะ
ส่วนผสม
- เนื้อวัวหั่นพอดีคำ 1 ถ้วยตวง
- ใบโหระพา
- ตะไคร้ซอย 3 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียมไทยสด 5 กลีบ
- พริกขี้หนูสวนบุบ 3 เม็ด
- มะนาว 1 ลูก
- กะปิย่าง 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนชา
- น้ำพริกกะปิ 1/2 ถ้วยตวง
- น้ำเปล่า
- ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด
วิธีทำ
- ต้มน้ำใส่หม้อ จากนั้นใส่เนื้อวัว ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า สมุนไพรเหล่านี้สามารถดับกลิ่นของเนื้อวัวได้ดี
- ส่วนการตุ๋นเนื้อควรเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ใช้เวลาประมาณ 1–1.30 ชั่วโมง แล้วแต่ชอบระดับความเปื่อยนุ่มค่ะ
- เมื่อตุ๋นเนื้อเรียบร้อยแล้วให้นำมาพักไว้ก่อน กรองน้ำเก่าออกให้หมด
- จากนั้นเทน้ำใหม่ใส่หม้อ นำไปตั้งไฟอีกครั้ง เทน้ำพริกกะปิและกะปิย่างที่เตรียมไว้ลงไป คนให้เข้ากัน
- พอน้ำเดือดให้เบาไฟลง ใส่พริกขี้หนูสวนบุบ ตะไคร้ซอย กระเทียมไทยสด และเนื้อลงไปในหม้อ
- รอสักครู่ เมื่อได้กลิ่นหอมจึงชิมรส หากได้รสที่ชอบก็ปิดไฟ เป็นเสร็จพร้อมเสิร์ฟค่ะ
สูตรจาก – parpaikin.com
เสน่ห์อาหารไทยโบราณ นอกจากจะมีหน้าตาน่าทาน แฝงไว้ด้วยความประณีต ละเมียดละไมในทุกขั้นตอนแล้ว ยังมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติอื่น วันหยุดนี้ลองชวนลูกๆ เข้าครัวไปทำอาหารไทยตำหรับชาววังดูนะคะ รับรองว่าลูกๆ ต้องตื่นตาตื่นใจกับเมนูอาหารไทยเป็นแน่