เมื่อเปิดเทอม ปัญหาอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักเจอคือการเจ็บป่วยของลูก โดยเฉพาะในเด็กวัยอนุบาลที่ภูมิคุ้มกันยังไม่ค่อยดีมากนัก เมื่อมีเด็กคนนึงในห้องเรียนป่วย คนอื่นๆ จึงพากันติดได้อย่างง่ายดาย วันนี้เราจึงนำ 5 โรคที่เด็กๆ มักติดมาจากโรงเรียนอนุบาล รวมไปถึงวิธีการดูแลเมื่อลูกไม่สบายและวิธีป้องกันมากฝากค่ะ
โรคมือ เท้า ปาก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) ที่ไม่รุนแรงมาก และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) ที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต มักพบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยการติดต่อเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากจมูก น้ำลาย และติดต่อโดยอ้อมจากของเล่นหรือสิ่งที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ
อาการ
- มีอาการคล้ายไข้หวัด เป็นไข้ประมาณ 5-7 วัน
- มีแผลร้อนในเกิดขึ้นในปากหลายแผล
- มีตุ่มน้ำใสที่มือและเท้า
วิธีดูแล
ไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะ ให้รักษาตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ ให้กินอาหารเหลาวๆและพยายามให้ดื่มน้ำมากๆ และควรให้ลูกหยุดเรียนรักษาจนหายเสียก่อน
วิธีป้องกัน
- ให้ลูกล้างมือบ่อยๆ
- พยายามสอนไม่ให้ลูกเอาของเล่นเข้าปาก
- พยายามทำความสะอาดของเล่นอยู่เสมอ
ไวรัส RSV
เชื้อไวรัส RSV เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โดยเชื้อไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้หลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่างๆ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือการจาม
อาการ
เริ่มตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ กินข้าวได้น้อย ซึมลง
วิธีการดูแล
หากลูกมีอาการป่วยควรให้ลูกหยุดเรียน และปิดปากเมื่อไอหรือจาม ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อเพิ่มความเจือจางในเสมหะหรือน้ำมูก ทำให้หายใจสะดวกขึ้น
วิธีป้องกัน
- ล้างมือบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการอยู่กับผู้ติดเชื้อ (ป้องกันการติดเชื้อผ่านน้ำมูก น้ำลาย)
- ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
- ทำความสะอาดของเล่น ของใช้และสนามเด็กเล่นอยู่เสมอ
ท้องร่วง
ท้องร่วงส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก “เชื้อโรต้าไวรัส” และมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยติดเชื้อจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด รวมไปถึงสัมผัสกับสิ่งของมีมีการปนเปื้อนเชื้อจากอึของเด็กๆ
อาการ
- ปวดท้อง
- ถ่ายบ่อยและเหลวเป็นน้ำ
- มีไข้และอาเจียนร่วมด้วย
- ก้นจะแดง
วิธีดูแล
ให้ลูกจิบสารละลายเกลือแร่น้อยๆ แต่บ่อยๆ เพื่อไม่ให้ขาดน้ำ อย่างดอาหาร เน้นอาหารจำพวกแป้งและโปรตีน ให้กินทีละน้อย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเส้นใยสูง
วิธีป้องกัน
- รับการหยอดวัคซีนที่ดรงพยาบาล
- ล้างมือทุกครั้งที่หยิบจับของสกปรก
- ทำความสะอาดของเล่น ของใช้บ่อยๆ
อีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสหรือไข้สุกใสเป็นโรตติดต่อที่พบบ่อยเพราะแพร่กระจายได้เร็วเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus: VZV) พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป โดยการติดต่อเกิดจากการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยที่ปนอยู่ในอากาศ ละอองไอ การจาม รวมไปถึงสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงทั้งสัมผัสผื่นที่ผิวหนังรวมไปถึงของใช้ต่างๆ
อาการ
- มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ
- ไม่ค่อยอยากอาหาร
- มีผื่นขึ้นเป็นจุดแดงๆ ตามร่างกายและกลายเป็นตุ่มน้ำพองขนาดเล็ก คันมาก
วิธีดูแล
รักษาประคับประคองตามอาการ กินยาลดไข้ พักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำมากๆ อาจทายาแก้คันเพื่อลดความคันได้ และตัดเล็บให้สั้น ที่สำคัญควรให้ลูกหยุดเรียนและแยกเครื่องใข้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
วิธีป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
- ทำความสะอาดของเล่น ของใช้ของลูกบ่อยๆ
ตาแดง
ตาแดงที่เด็กๆ มักเป็นกันบ่อยคือเยื่อบุตาอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส Adenovirus หรือ Picornavirus เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายมากๆ เป็นโรคที่พบได้เกือบตลอดปี แต่พบได้บ่อยในหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเปิดเทอมพอดี โดยการติดต่อจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง เชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ตามนิ้วมือผู้ป่วยเมื่อไปสัมผัสสิ่งของ คนที่มาสัมผัสต่อแล้วเอามือไปขยี้ตาก็จะติดเชื้อไปด้วย
อาการ
- เริ่มมีอาการน้ำตาไหล เจ็บตา
- มักจะมีขี้ตาเป็นเมือกใสหรือสีเหลืองอ่อน
- ในตอนแรกจะเป็นกับตาข้างเดียว แต่อีก 2-3 วันถัดมาอาจลุกลามมายังตาอีกข้างหนึ่งได้
- เป็นมากในช่วง 4-7 วันแรก และจะหายได้เองภายใน 1-2 อาทิตย์
วิธีดูแล
โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ จะรักษาตามอาการ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบ งดใช้สายตา งดเล่นโทรศัพท์มือถือและถ้าใช้ทิชชู่หรือสำลีเช็ดขี้ตาควรทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ควรให้ลูกหยุดเรียน
วิธีป้องกัน
- ล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะขยี้หรือสัมผัสตา
- ไม่คลุกคลีและใช้สิ่งของร่วมกับคนที่เป็นโรคตาแดง
- อย่าให้แมลงวัน แมลงหวี่มาตอมตา
- รักษาความสะอาดของร่างกาย
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น