ผู้หญิงทุกคนมีจิตวิญญาณของความเป็นแม่อยู่ในตัวก็เช่นเดียวกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีที่ถึงแม้ว่าจะทรงพระสเลนเดอร์แต่พระองค์ก็มีโอรส-ธิดาถึง 3 คน และพระองค์ก็ได้ทำหน้าที่แม่อย่างเต็มภาคภูมิเช่นกัน วันนี้เรามาดูบทบาทความเป็นแม่ของทูลกระหม่อมฯ กันเถอะค่ะ

คุณแม่ของลูกทั้ง 3 คน
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้อภิเษกสมรสกับปีเตอร์ แลด เจนเซน ชาวอเมริกัน และได้ให้กำเนิดโอรส-ธิดา 3 คน ทั้งหมดเกิดในสหรัฐอเมริกา ได้แก่
- คุณพลอยไพลิน เจนเซน
- คุณพุ่ม เจนเซน (นามเดิม ภูมิ เจนเซน เสียชีวิตในเหตุการณ์คลื่นสึนามิทางภาคใต้ของไทยปี พ.ศ. 2547)
- คุณสิริกิติยา เจนเซน (นามเดิม ใหม่ เจนเซน)
โดยทูลกระหม่อมหญิงฯ ได้ทรงเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความอบอุ่น เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก
ทำทุกอย่างเพื่อความสุขของลูก
“ถัามีโอกาสที่จะทำให้เขาหายก็ให้เขาหาย ถ้าเขาไม่หายก็พยายามให้เขามีความสุขที่สุดและมีพัฒนาการที่ดีที่สุดที่จะอยู่ในสังคมได้”
แน่นอนว่าเมื่อเป็นแม่ย่อมอยากจะทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกมีความสุขที่สุด ซึ่งทูลกระหม่อมฯ ได้ทรงสนับสนุนให้ลูกทั้ง 3 คนได้ทำในสิ่งที่ชอบ โดยเฉพาะกับคุณพุ่มซึ่งเมื่อทรงทราบว่าคุณพุ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็ยิ่งเป็นห่วงมาก
เมื่อทรงทราบอย่างชัดเจนว่าคุณพุ่มเป็นออทิสติก ความรู้สึกของพระองค์ในฐานะแม่ถึงแม้ว่าจะเสียใจ แต่ก็ต้องทำใจให้นิ่ง และจะพยายามช่วยให้ลูกหายจากออทิสติก หากไม่หาย พระองค์ก็จะทรงพยายามทำให้คุณพุ่มมีความสุขที่สุด
ยืดหยัดและเผชิญหน้ากับออทิสติกเพื่อลูก
ทูลกระหม่อมฯ ตัดสินพระทัยประกาศให้คนรับรู้ว่าคุณพุ่มเป็นออทิสติก เพื่อให้คนเข้าใจในตัวคุณพุ่มมากขึ้น แม้ในตอนแรกจะกังวลแต่สุดท้ายกลับกลายเป็นช่วยให้คนเข้าใจถึงโรคออทิสติกมากขึ้น และทำให้บรรดาพ่อแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติก เริ่มกล้าออกมาเปิดเผย ทำให้เด็กๆ ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ก้าวต่อไปข้างหน้าแม้ว่าดวงใจจะสลาย
“มูลนิธิคุณพุ่มนี้ ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณพุ่ม อยากจะช่วยเด็กๆที่เป็นออทิสติก คุณพุ่มเป็นกำลังใจที่ให้สร้างงานนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คุณพุ่ม ซึ่งรักเมืองไทยมาก ก็อยากจะให้เด็กพิเศษคนอื่นๆ ได้มีโอกาสพัฒนา”
หากยังจำกันได้เมื่อปี 2547 ได้เกิดสึนามิที่ภาคใต้ โดยภัยพิบัติใหญ่ในครั้งนั้นได้พรากชีวิตของคุณพุ่มไปอย่างไม่มีวันกลับซึ่งสร้างความเสียใจให้แก่ทุกคนโดยเฉพาะคนเป็นแม่ และถึงแม้ว่าทูลกระหม่อมฯ จะเสียพระทัยมากเพียงใด ก็ยังคงก้าวไปข้างหน้าต่อและได้ก่อตั้งมูลนิธิคุณพุ่ม เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คุณพุ่ม
ซึ่งมูลนิธิคุณพุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นเพราะ เห็นว่าบุคคลที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้หรือบุคคลออทิสติกยังไม่ได้รับโอกาสในด้านต่างๆอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมอีกทั้งยังทรงห่วงใยเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ทางสังคม
TO BE NUMBER ONE โครงการที่ใส่ใจเยาวชนราวกับเป็นลูก
“กิจกรรมในโครงการ TO BE NUMBER ONE จะเบนความสนใจจากการหาความสุขชั่วครั้งชั่วคราวจากยาเสพติด อยากให้โครงการนี้สำเร็จด้วยดี แต่จะทำคนเดียวไม่ได้ จึงขอความร่วมมือจากทุกคน”
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ทรงมีความห่วงใยในเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดสูง เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ แต่ยังขาดภาวะทางอารมณ์ จึงได้ริเริ่มโครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
ด้วยการให้เด็กๆ ได้แสดงพลังอย่างถูกต้องเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์เพื่อจะได้ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด อีกทั้งยังมีการสร้างเครือข่ายสมาชิกและชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อร่วมกันรณรงค์ จัดกิจกรรมป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด