ลูกวัยอนุบาล หรือในช่วง 3-6 ขวบ เป็นช่วงที่ลูกเริ่มเข้าโรงเรียน และเริ่มมีสังคม เริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นดูแล คอยสั่งสอนสิ่งที่ดีให้ลูกน้อยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพนั่นเองค่ะ
บทเรียนที่ 1 : สอนให้ลูกช่วยเหลือตนเอง
อันดับแรกที่ควรเริ่มฝึก คือ การช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันให้สามารถทำได้เอง เช่น เข้าห้องน้ำ ล้างมือ ล้างก้นเองได้ ใส่หรือถอดเสื้อผ้าได้เอง กินข้าวได้เอง รวมทั้งอื่นๆ อีกมากมายค่ะ คุณแม่ลองค่อยๆ คิด เรื่องไหนที่ควรฝึกให้ลูกน้อยรู้จักช่วยตนเองให้ได้มากที่สุดก่อนจะถึงวัยที่เขาต้องเข้าเรียน เพื่อให้ลูกใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองเมื่ออยู่ที่โรงเรียน
บทเรียนที่ 2 : รู้จักมีความรับผิดชอบ
ก่อนเข้าโรงเรียนคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบหน้าที่บางอย่างในบ้าน เช่น ช่วยรดน้ำต้นไม้ ช่วยหยิบไม้หนีบผ้าตอนที่แม่ตากผ้า ช่วยถูพื้นเล็กๆ น้อยๆ ฯลฯ และหากคุณพ่อคุณแม่ทำงานอะไร ก็สามารถมอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกน้อยช่วยได้ เพราะเด็กแทบทุกคนอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมของพ่อแม่อยู่แล้ว แม้ในระยะเริ่มต้นที่ให้เด็กลองทำอาจจะทำให้งานได้ช้าหรือเสี่ยงสกปรก เสียเวลาไปบ้าง แต่ก็คุ้มค่าที่จะฝึกนิสัยความรับผิดชอบ เพราะเมื่ลูกโตขึ้นก็จะสามารถรับผิดชอบหน้าที่ช่วยตัวเองและช่วยครอบครัวได้
บทเรียนที่ 3 : เรียนรู้การเข้าสังคม
การอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมก็ต้องฝึก และให้เด็กๆได้เรียนรู้ก่อนไปโรงเรียน เพราะจะได้การช่วยเตรียมภูมิต้านทานให้ลูกพร้อมเผชิญโลกกว้างที่กำลังจะเข้าไปสัมผัส รวมทั้งการฝึกฝนพฤติกรรมดี ๆ ที่ต้องมีเพื่อเข้าสู่สังคมของโรงเรียน เช่น การรู้จักการแบ่งปัน การรู้จักระเบียบวินัย การเข้าแถว หรือการรู้จักดูซ้ายดูขวาทุกๆ ครั้งก่อนข้ามถนน เป็นต้น
บทเรียนที่ 4 : ฝึกทักษะการสื่อสาร
ทั้งในเรื่องของ ภาษา การฟัง และความเข้าใจในการสื่อสาร พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กรู้จักบอกความต้องการของตัวเองได้เพราะถ้าอยู่บ้านก็คงไม่จำเป็น แต่ที่โรงเรียนคงไม่ใช่อย่างนั้น โดยเริ่มต้นฝึกง่ายๆ ด้วยการให้ลูกสามารถพูดได้ว่า ต้องการหรือไม่ต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น ถ้ามีเพื่อนมาแย่งของเล่นของลูกแล้ว ลูกจะต้องพูดโต้ตอบเพื่อนอย่างไร ต้องลองเริ่มฝึก ถ้าลูกสามารถบอกความต้องการของตนเองกับคนอื่นๆ ได้แล้ว เขาก็สามารถปรับตัวให้เข้าสถานที่ใหม่ ๆ อย่างโรงเรียนได้เร็วยิ่งขึ้น และยังลดพฤติกรรมก้าวร้าวต่างๆ ลงได้อีกด้วย เพราะไม่รู้จักเทคนิคการสื่อสาร เช่น เวลาที่เห็นเพื่อนเล่นของเล่น แทนที่จะพูดขอเล่นด้วยดีๆ กลับเข้าไปแย่งจากเพื่อนเอาดื้อๆ เลย ถ้ามีพฤติกรรมอย่างนี้บ่อยๆ วุ่นวายไม่จบไม่สิ้นแน่นอนค่ะ
บทเรียนที่ 5 : ไม่เป็นเด็กเอาแต่ใจ
นิสัยเอาแต่ใจอาจใช้ได้แค่ในบ้าน แต่หากลูกต้องเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยฝึกสอน เรื่องการลดความเอาแต่ใจของลเจ้าตัวเล็กให้ได้ ซึ่งในเด็กเล็กอาจค่อนข้างทำได้ยาก คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นและให้โอกาสลูกมาก ๆ ต้องปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มง่ายๆ เช่น ปู่ย่าตายายที่มักโอ๋เด็ก คิดว่าหลานยังเล็ก ไม่เป็นไรปล่อยไปก่อน เดี๋ยวเข้าโรงเรียนแล้วค่อยมาฝึก ซึ่งการทำแบบนี้จะยิ่งทำให้นิสัยเอาแต่ใจติดเป็นความเคยชิน เมื่อโตขึ้นก็จะแก้ไขยากมากๆ ดังนั้นการเลี้ยงเด็กต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งบ้านจึงจะถูกต้องค่ะ
พญ.กาญจนา คูณรังษีสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำว่า ลูกวัย 3 ขวบที่เข้าโรงเรียนแล้ว ควรฝึกเรื่องระเบียบวินัย การรอคอย การเข้าสังคม มากกว่าการจับเรียนเขียนอ่าน เนื่องจากกล้ามเนื้อมัดเล็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ควรปล่อยขีดเขียนอิสระ ไม่ต้องกังวลอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อีกทั้งการเลือกกิจกรรมที่ลูกสนใจ และรู้สึกสนุก จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะลูกได้มากกว่าการบังคับอีกด้วยค่ะ
ที่มา :