Parents One

5ข้อปฏิบัติ ทำอย่างไรให้ลูกไม่สำลัก

วัยกัดวัยเคี้ยวของเจ้าหนูพึ่งงอกดอกไม้ในปากเป็นปัญหาที่ยากเกินจะรับมือเวลาที่ปล่อยให้ลูกรักเพลิดเพลินกับอาหารเพียงลำพังเพราะนอกจากปัญหาทานหกเลอะเทอะหรือแอบเขี่ยผักไว้ใต้ข้าว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กลัวมากที่สุดก็คือเจ้าตัวน้อยเกิดอาการสำลักอาหารในระหว่างที่กำลังเอร็ดอร่อยอยู่กับมื้อโปรด

แล้วแบบนี้จะทำอย่างไรได้บ้างไม่ให้ลูกมีอาการสำลัก คุณพ่อและคุณแม่จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าตัวดีเกิดอาการสำลัก

เราไปดูกันเลยค่ะ

1. เลือกอาหารที่ปลอดภัยให้ลูก

ตามวัยแล้วของทานเล่นนั้นเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากในวัยกำลังคันฟันอยากเคี้ยวทั้งขนมกรุบกรอบ, ลูกอมหวานๆรึแม้แต่พวกอาหารแปรรูปที่มีทั้งรสชาติและกลิ่นที่ทำให้ถึงกับน้ำลายสอ หน้าที่ของผู้จัดการอาหารจึงต้องคอยดูให้ดีว่าขนาดของชิ้นที่ให้เขาทานนั้นพอดีคำหรือเล็กเกินไปหรือเปล่ารวมถึงปัจจัยความเสี่ยงในการทานที่อาจหลุดไหลเข้าไปในช่องทางเดินหายใจได้

อย่างเช่นไส้กรอกชิ้นเล็กที่เนื้อสัมผัสค่อนข้างลื่น, เม็ดถั่วผิวมันหรือแม้แต่ผลไม้ที่มีเนื้อนุ่มกัดง่ายเองก็อาจเป็นหนึ่งในตัวการทำให้สำลักเพราะกลืนลงคอไปได้อย่างง่ายดายโดยที่เด็กไม่รู้สึกว่าต้องเคี้ยวและนอกจากนี้อาหารเส้นเองก็เช่นกันที่ต้องระวังเพราะหากมีความเหนียวหรือเส้นยาวมากเกินไปก็อาจทำให้เขาเผลอกลืนลงไปได้ง่ายๆ

ดังนั้นก่อนจะนำอาหารมาให้เจ้าตัวน้อยได้ทานต้องมีการดูให้ละเอียดก่อนว่าสิ่งที่ให้ทานนั้นสุ่มเสี่ยงหรือไม่กับการสำลัก ชิ้นพอประมาณไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป

 

2. สอนให้เคี้ยวละเอียด

เป็นปกติเวลาเจอของอร่อยถูกใจก็จะรีบเคี้ยวรีบกลืนเพื่อลิ้มรสชาติของอาหารชิ้นต่อไปเพราะแบบนั้นจึงเป็นสาเหตุต้นๆที่ทำให้เกิดอาการสำลักได้ คุณพ่อและคุณแม่จึงต้องคอยดูแลให้เขาเคี้ยวจนมั่นใจแล้วว่าละเอียดจริงถึงค่อยกลืน อาจมีการนับให้ครบสิบแล้วถึงกลืนหรือหากเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์อาจให้เคี้ยวถึง20ครั้งแล้วถึงให้กลืน

นอกจากจะช่วยในเรื่องลดการสำลักได้แล้วยังช่วยให้ได้รับสารอาหารที่มากขึ้นอีกด้วยสำหรับการกินแต่ละครั้ง

 

3. นั่งทานกับเก้าอี้ประจำตำแหน่งเสมอ

มีบ้างที่ลูกน้อยชอบลงไปนอนกลิ้งเล่นไปพร้อมๆกับการทานอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีที่นั่งประจำให้แก่ลูกน้อยเพื่อทานให้เป็นที่เป็นทาง อาทิ เก้าอี้ตัวโปรดที่มาพร้อมกับถ้วยชามลายที่ลูกชอบเพื่อดึงความสนใจให้เขาอยากใช้และอยู่ให้ติดที่ตอนรับประทานอาหาร ทั้งนี้นอกจากจะช่วยป้องกันให้เขาไม่นำอาหารเข้าปากในท่าทางเสี่ยงต่อการสำลักแล้วยังเป็นการช่วยฝึกความเป็นระเบียบและมีวินัยในตัวลูกน้อยอีกด้วย

 

4. ไม่เดินไปทานอาหารไป

เวลาออกไปนอกบ้านหรือตามร้านค้า แน่นอนว่าอาหารที่หลากหลายย่อมเป็นที่ตื่นตาตื่นใจมักจะส่งผลให้ชายกางเกงหรือกระโปรงคงมีถูกดึงอยู่บ้างเพื่ออ้อนขอซื้อให้ทาน

และหลายๆครั้งเราก็มักจะทนไม่ไหวกับการขอแล้วซื้อให้ในที่สุดซึ่งในส่วนนี้เองก็อาจทำให้เกิดการสำลักได้เพราะการเดินและรับประทานอาหารไปพร้อมกันนั้นเสี่ยงทั้งการหกล้ม, โดนผู้คนชนและวิ่งกระโดดเล่นตอนเดินจึงทำให้อาหารหลุดเข้าช่องหลอดลมไปง่ายกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อซื้อของให้ลูกน้อยทานแล้วจึงควรหาที่เป็นหลักแหล่งทานให้เสร็จก่อนแล้วจึงไปเดินต่อหรือนั่งรับประทานที่ร้าน

แต่หากเป็นร้านรถเข็นหรือมีเพียงหน้าร้านก็อาจขอใส่ถุงไว้ก่อนเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้านในกรณีที่เป็นของเก็บไว้ทานได้ไม่ต้องรีบร้อนรับประทาน

 

5. เรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลให้เป็นวิชาติดตัว

ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาและโอกาสนั้นจำเป็นที่จะต้องหาทางรับมือไว้เพราะอะไรๆก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นซึ่งหลักในการปฐมพยาบาลลูกน้อยที่มีอาการสำลักนั้นต้องใช้วิธี

5 back blow or back slap หรือการตบหลัง 5 ครั้งและกดหน้าอก 5 ครั้ง

โดยการอุ้มลูกให้นอนคว่ำลงบนหน้าตักโดยให้หัวต่ำกว่าตัวแล้วใช้มือข้างนึงประคองใบหน้าและกรามลูกไว้ก่อนใช้สันมืออีกข้างตบกลางสะบักหลังเด็ก 5 ครั้ง หากยังไม่หลุดออกให้จับนอนหงาย ศีรษะต่ำกว่าตัวเช่นเคยแล้วกดตรงกลางอกใต้ราวนม 5 ครั้งเช่นกันเพื่อให้เศษอาหารหลุดออกมาหากยังไม่สามารถช่วยได้ก็ต้องพยายามประคองสติตนไว้ให้ดีแล้วโทรเรียกรถพยาบาลมารับไปหรือต่อให้ชิ้นส่วนของกินหลุดออกมาแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรีบพาพบแพทย์ในทันทีเช่นกันเพื่อให้ตรวจร่างกายว่าได้รับการกระทบกระเทือนอะไรบ้างรึเปล่าเพื่อความปลอดภัย

และสิ่งสำคัญที่ต้องมีมากที่สุดคือ สติ ไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นต้องมีสติอยู่เสมอแล้วจะช่วยให้ทุกอย่างคลี่คลายลงไปได้ค่ะ

 

ที่มา : meded, mjn.enfababys-momclubmaerakluke