Parents One

5 ข้อควรระวังเมื่อให้ลูกเรียนพิเศษตั้งแต่อนุบาลเพื่อสอบเข้าป.1

พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้สิ่งที่ดีแก่ลูก ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ อาหาร เสื้อผ้า สภาพแวดล้อมและการศึกษาที่ดี จึงทำให้เห็นเรื่องราวที่พ่อแม่ให้ลูกวัยอนุบาลไปเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าป.1 เพราะอยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี แต่ด้วยความรักและความหวังดีนี้เองที่ทำให้พ่อแม่อาจมองข้ามในเรื่องของวัยและความต้องการจริงๆ ของลูก ดังนั้นนี่จึงเป็น 5 ข้อควรระวังหากต้องการให้ลูกเรียนพิเศษตั้งแต่อนุบาลค่ะ

1. ภาวะความเครียดจากการถูกเร่งรัด (Hurry Child Syndrome)

การให้เร่งให้ลูกเรียนตั้งแต่ยังอยู่อนุบาล อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกเกิดภาวะความเครียดจากการถูกเร่งรัด (Hurry Child Syndrome) คือ ลูกจะแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น ในตอนแรกลูกจะตั้งใจเรียน เรียนดีและไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะอยากทำให้พ่อแม่ภูมิใจ

แต่เมื่อใช้ชีวิตแบบนี้ไปนานๆ อาจทำให้ลูกมีความรู้สึกเฉยชา ไม่มีความสุข ไม่อยากรู้สึกเรียนเหมือนเคย และทำให้เขารู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจได้อย่างเดิม บางครั้งอาจทำให้เขากลายเป็นเด็กก้าวร้าวรุนแรง หรือไม่ก็ซึมเศร้าจนคิดอยากฆ่าตัวตายก็มี

2. ลูกอาจมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อ-แม่ลดลง

เด็กหลายๆ คน ต้องเข้าคอร์สติวตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล 2 โดยต้องติวที่โรงเรียนตอนเช้า ตั้งแต่ 7 โมงก่อนเคารพธงชาติ จากนั้นก็ต้องเรียนพิเศษตอนเย็น อีกทั้งยังต้องติวในวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย แล้วเวลาไหนที่ลูกจะได้พูดคุยและใช้เวลาอยู่กับเราล่ะคะ หลังจากเลิกเรียนลูกก็คงหมดแรง อยากจะนอนพัก ไม่มีเวลามาวิ่งเล่นหรือทำในสิ่งที่ลูกชอบ

กับตัวพ่อแม่เองลูกก็คงจะมีเวลาอยู่กับเราน้อยมาก อย่างที่รู้กันเด็กในช่วงวัยนี้เป็นวัยที่เขาต้องการความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่ อยากวิ่งเล่น อยากมีเวลาเป็นอิสระ ได้ไปเที่ยวและใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่ มากกว่าอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมและจอโทรทัศน์

3. เป็นการขวางโอกาสในการพัฒนาสมองที่เหมาะสมตามวัย

ในเด็กเล็กๆ สิ่งที่ควรพัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาสมองคือ การพัฒนาการรับรู้ประสาทสัมผัส การได้ยิน การมองเห็นและอารมณ์ ช่วงวัย 3-5 ขวบเป็นช่วงที่ลูกกำลังสนุกกับชีวิตที่เขาเพิ่งจะเดินและวิ่งได้ ควรเน้นไปที่การให้ลูกได้ฝึกระเบียบวินัย การเข้าสังคม รู้จักรอคอย เข้าแถว ไม่แซงเพื่อน ไม่แย่งของเพื่อนในตอนนี้มากกว่า เหล่านี้ถือเป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ตั้งแต่เล็กเพื่อจะได้ติดไปจนโต

ซึ่งการที่ให้ลูกเรียนพิเศษตั้งแต่เล็กอาจขัดกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ที่มุ่งเน้นให้เด็กได้รับการพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของพัฒนาการอย่างมีความสุขและเหมาะสมตามวัย โดยไม่มีการเรียนการสอนเชิงวิชาการมาเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์

4. จินตนาการและศักยภาพทางความคิดจะถูกขัดขวาง

ในช่วง 2-3 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง อยู่ในช่วงของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การฝึกขีดเขียน ระบายสีอย่างอิสระ ก็จะช่วยฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีขึ้น แต่การบังคับให้ลูกเขียนตัวอักษร ก็อาจจะเป็นการไปปิดกั้นจินตนาการของลูก

ส่วนวัย 3-5 ขวบ ถือเป็นวัยที่เต็มไปด้วยจินตนาการและควรมีอิสระในการเรียนรู้ ถ้ามัวแต่ดุด่า สั่งห้ามไม่ให้ลูกทำนั่นนี่ จับเขามานั่งเฉยๆ บังคับให้เขามีสมาธิอยู่กับการเรียน จินตนาการและศักยภาพทางความคิดของลูกจะถูกขัดขวางได้ค่ะ

5. ต้องคำนึงถึงความสุขของลูก

เมื่อเราจะให้ลูกเรียนพิเศษ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือการถามความสมัครใจของลูก ว่าลูกอยากเรียนจริงๆ หรือเปล่า และถ้าเราให้ลูกเรียนพิเศษแล้วก็ต้องแบ่งเวลาให้ดี อย่าให้เขาเอาแต่เรียน ควรให้ทำกิจกรรมอื่นเสริมด้วย ให้ลูกออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน พาลูกไปเที่ยว ใช้เวลาอยู่กับลูกมากๆ เพราะเด็กวัยนี้หน้าที่ของเขาคือการเล่น ความสุขของเขาก็อยู่กับพ่อแม่ค่ะ

บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อตัดสินว่าอะไรผิดหรือถูก เพียงแต่อยากให้ดูถึงประโยชน์ที่ลูกจะได้รับจริงๆ เห็นถึงสิ่งที่ลูกต้องการ มากกว่าความต้องการของคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเรา หากลูกชอบหรือรักที่จะเรียนจริงๆ การที่ให้ลูกเรียนพิเศษไม่ใช่สิ่งที่เสียหายเลยเพราะเราเพียงแค่สนับสนุนในสิ่งที่ลูกต้องการ และเมื่อเราให้ลูกเรียนแล้ว สิ่งที่ไม่ควรทำคือการคาดหวังว่าเขาจะต้องสอบติด ควดหวังว่าเขาต้องได้คะแนนดีๆ เพราะจริงๆ แล้ว สิ่งที่ลูกทำ ลูกตั้งใจเรียน เพราะอยากให้พ่อแม่ภาคภูมิใจและชื่นชมในตัวของเขาเท่านั้นเอง

ข้อมูลอ้างอิงจาก