Parents One

4 ผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้จากการเลี้ยงลูกให้ติดจอ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เด็กกับเทคโนโลยีเป็นของคู่กันในยุคสมัยนี้ เด็กที่โตแล้วไม่เท่าไหร่ แต่เด็กเล็กนี่สิที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ ซึ่งเรามักจะเห็นกันบ่อยๆ ที่พ่อแม่มักจะแก้ปัญหา โดยการโยนมือถือ หรือแท็บเล็ต ให้ลูกเมื่อไม่มีเวลาหรือลูกงอแง

การที่พ่อแม่ใช้สื่อผ่านหน้าจอเพียงอย่างเดียวในการเลี้ยงลูกนั้น จริงๆ แล้วไม่มีส่งผลในการเสริมพัฒนาการเด็กนะคะ  แต่มันจะส่งผลกระทบต่อสอมงและทำให้พัฒนาการของเด็กนั้นแย่ลงอีกด้วย

4 ผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

1.ด้านพัฒนาการ

หากเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ จะทำให้เขามีพัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญาที่ช้า เนื่องจากเด็กจะจ้องแต่จอ ขาดการติดต่อสื่อสาร ฟังอย่างเดียว ทำให้พูดน้อยลง ส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็กนั้นก็มีผลด้วย เนื่องจากปกติเด็กจะได้เล่นของเล่นเสริมพัฒนาการ จับโน้นนั้นนี่ ทำให้กล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงกว่าที่เด็กไม่ทำอะไรเลย จ้องแต่หน้าจอ แต่สื่อในจอที่เป็นสื่อการศึกษาที่ถูกออกมาเป็นรูปแบบวีดีโอที่ส่งเสริมการพูดนั้น จะสามารถช่วยพัฒนาภาษาของเด็กได้ในช่วงวัย 2-5 ขวบนั้นเอง

2.ด้านพฤติกรรม

เด็กมักจะลอกเลียนแบบและซึมซับจากสิ่งที่ดู ทำบางครั้งหากเป็นเรื่องไม่ดี เขาก็จะสามารถเลียนแบบในสิ่งที่ผิดได้ ทำให้เกิดพฤติกรรมก้ามร้าว ซน หากดูมากๆ ก็จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิสั้นได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่คล้ายออทิสติก พฤติกรรมการแยกตัวและต่อต้าน หรืออีกทางนึงหากเด็กเห็นซุปเปอร์ฮีโร่แล้ว อยากทำแบบนั้นได้ อาจจะทำให้ลูกเกิดอันตรายได้เช่นกัน มีคุณหมอเคยพบเด็กอายุ 3 ขวบมาด้วยเรื่องไม่พูด ไม่สบตา ชอบเล่นคนเดียว เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ชอบเปิดทีวีให้ลูกดูตลอดเวลา เพื่อให้ตัวเองได้ทำอย่างอื่นได้มากขึ้น นั้นคือค่านิยมที่ผิดๆ ซึ่งทำให้เกิดพฤติรรมที่ส่งผลเสียต่อลูกได้

3.ทักษะการใช้สมองระดับสูง

เด็กจะขาดทักษะในการแก้ปัญหาและหาทางออก และมีความคิดสร้างสรรค์ที่น้อยลง เมื่อไหร่ที่เขารู้สึกเบื่อ หงุดหงิด หรือไม่สบายใจ เขามักจะหาทางออกโดยการดูมือถือหรือแท็บเล็ตเพื่อฆ่าเวลา แม้จะเป็นแค่ชั่วคราวก็ตาม ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อการเรียน การทำงานของเด็ก และการดำเนินชีวิตในครอบครัวและสังคมในอนาคตต่อไปได้

4.ปัญหาการนอนของเด็ก

สังเกตว่าเมื่อไหร่ที่ลูกดูสื่อที่มีเนื้อหาที่รุนแรง หรือน่ากลัว ในช่วงหัวค่ำก่อนนอน จะทำให้เด็กนอนหลับยากขึ้น เพราะเขาอาจจะเก็บไปฝันร้ายและทำให้เกิดความกลัวได้ เมื่อตื่นเช้ามาจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียเนื่องจากการนอนไม่หลับ ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ในแต่ละวันได้อีกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือ amarinbabyandkids