ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายๆ ครอบครัวต้องกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อความปลอดภัยในช่วงซัมเมอร์ที่มีอากาศร้อน แม้ว่าเด็กๆ จะไม่ได้ออกจากบ้านไปเรียนภาคฤดูร้อน ทำกิจกรรมหรือทานอาหารนอกบ้านแต่โรคที่มาในช่วงหน้าร้อนนี้ก็ยังคงต้องระวัง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ ไปดูกันว่าทั้ง 4 โรคที่ควรระวังจะมีการป้องกันอย่างไรได้บ้างค่ะ
1. โรคอุจจาระร่วง
สาเหตุและอาการของโรค
เกิดจากอาหารปนเปื้อนไม่สะอาด โรคอุจจาระร่วงมักเกิดในเด็กเล็กโดยจะมีอาการปวดท้องแบบปวดเกร็งในท้อง อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ้ารุนแรงจะถ่ายเป็นมูกเลือดได้ มีไข้ต่ำๆ เป็นอาการรุนแรงจึงควรรีบมาพบแพทย์
การป้องกันและดูแลรักษา
- ให้กินน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำและเกลือแร่
- เด็กเล็กควรงดนมก่อน และดื่มน้ำเกลือแร่จนกว่าอาการถ่ายเหลวหยุด
- ดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำ ให้ถูกสุขลักษณะ
- ดูแลสุขอนามัยโดยให้ลูกล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
2. โรคลมแดด
สาเหตุและอาการของโรค
เด็กอาจเป็นโรคลมแดดเมื่อใช้เวลาอยู่กลางแดดมากเกินไป ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ สังเกตได้จากตัวที่ร้อนและผิวมีสีแดงผิดปกติ หากเป็นรุนแรงเด็กอาจหมดสติและเป็นอันตรายต่อชีวิต
การป้องกันและดูแลรักษา
- ให้เด็กอยู่ในที่ร่มระหว่างที่มีแดดและอากาศร้อนจัด
- จำกัดเวลาเล่นกลางแจ้ง
- สวมใส่เสื้อผ้าบางๆ หรือเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
- ให้เด็กดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
3. โรคผดร้อน
สาเหตุและอาการของโรค
เด็กเล็กเป็นผดผื่นร้อนได้ง่าย เมื่ออยู่ในอากาศร้อนมากๆ เนื่องจากต่อมเหงื่อของเด็ก ยังมีการทำงานได้ไม่ดีนักทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตันและไม่สามารถขับเหงื่อได้ ทำให้เป็นตุ่มแดงที่ผิวหนัง อาจมีอาการคันและไม่สบายตัว
การป้องกันและดูแลรักษา
- อาบน้ำเพื่อช่วยระบายความร้อน จะช่วยให้ผิวลูกสดชื่นขึ้น ไม่เหนียวเหนอะหนะ
- เช็ดตัวบ่อยขึ้น เพื่อไม่ให้ผิวเกิดการอับชื้น โดยเฉพาะบริเวณซอกแขน ขา คอ ก้น
- ควรให้เด็กสวมเสื้อผ้าที่เบาบางระบายเหงื่อได้ดี
- ไม่ทาโลชั่นหนาจนรูขุมขนอุดตัน
- หากเด็กเป็นผดร้อนและไม่หายเมื่อผ่านไปหลายวันควรพาไปพบแพทย์
4. โรคไวรัสตับอักเสบเอ
สาเหตุและอาการของโรค
เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนไวรัสตับอักเสบเอ เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุกดี มักเริ่มจากมีไข้ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เมื่อไข้ลดจะมีอาการตัวเหลือง และตาเหลือง ในเด็กเล็กมักมีอาการเพียงเล็กน้อย บางรายมีอาการไม่กี่วัน แต่ถ้าเป็นในเด็กโตจะมีอาการเป็นสัปดาห์ โดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
การป้องกันและดูแลรักษา
- ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
- ให้ลูกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุก ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
- เลือกทำอาหารให้ลูกเองดีกว่าซื้อจากทางร้าน
- ล้างมืออยู่เสมอโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร
นอกจากการระวังโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนวิธีป้องกันโรคต่างๆ ให้กับลูก เช่น ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกัน การรับเชื้อ และแพร่กระจายเชื้อ เลือกกินอาหารและน้ำ ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ และการดูสุขภาพของลูกและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด เพราะสังเกตอาการได้เร็ว จะรู้โรคและรักษาได้ทันการณ์ อาการจะไม่รุนแรงค่ะ
ที่มา :