จากกรณีที่มีเด็กชายเกิดอาการหัวร้อนจากการเล่นเกมและโกรธที่แม่ทำหูฟังพัง จนคว้ามีดอีโต้จะมาทำร้ายแม่และอาม่านั้น เป็นกรณีอุทาหรณ์ที่ทำให้พ่อแม่ต้องหันมาสนใจในพฤติกรรมการเล่นเกมของลูกมากขึ้น
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคติดเกม (Gaming Disorder) เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสพติด ในทางสมองมีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคนี้เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ ครอบครัว การศึกษา การงานอาชีพ และสังคม เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก เล่นส่วนใหญ่มักจะติดมาจากการเล่นเกมออนไลน์
โดยอาการของเด็กติดเกม คือ ใช้เวลาเล่นนานเกินไปและขาดการควบคุมตนเองในการใช้ชีวิตปกติ เช่น การกิน การนอน จนทำให้เสียการเรียน และความรับผิดชอบที่เคยทำ
ดังนั้น ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งง่ายกว่าการแก้ไขภายหลัง โดยพ่อแม่ควรทำข้อตกลง 3 ข้อก่อนให้ลูกเริ่มเล่นเกม คือ
- ควรแบ่งเวลาให้ลูกเล่นเกมอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการเล่นเกมวันละ 1- 2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรให้เล่นเกมในเวลาเรียน หรือเล่นในช่วงเวลากลางคืน
- เนื้อหา ในส่วนของเนื้อหาต้องไม่มีความรุนแรง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กไปเสพข้อมูลความรุนแรงเพิ่มเติมจากทางอินเทอร์เน็ต
- พฤติกรรม การเล่นเกมต้องไม่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ ไม่ยอมไปเรียน โดดเรียน ไม่กินข้าวตามเวลา ไม่ยอมนอน มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงทางกายและวาจา เป็นต้น
ที่สำคัญครอบครัวควรทำความรู้จักกับเกมที่เด็กกำลังให้ความสนใจ ไม่ใช่แค่เพียงแต่ตัวเนื้อหาในเกม แต่รวมไปถึงสื่อข้างเคียง เช่น youtuber และ caster ที่เด็กรับชมและติดตามอีกด้วย เพราะปัญหาเด็กติดเกมไม่ใช่ปัญหาของเด็กเพียงอย่างเดียว พ่อแม่คือคนสำคัญในการดูแลและป้องกันปัญหานี้เช่นกัน
อ้างอิงจาก