เราคงได้เห็นข่าว หรือพบเจอการถามไถ่ในเว็บบอร์ดต่างๆ มาบ้างใช่ไหมคะ เกี่ยวกับการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวบุคคลแม้แต่จะเป็นคนในบ้านเองที่มักจะมีเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นมาสอบถามลงว่า ที่คุณพ่อคุณแม่ เอากล้องมาติดอยู่ในห้องนอนส่วนตัวนั้นปกติหรือไม่ หรือแม้แต่การสอบถามของผู้ปกครองเองว่า หากตนนำกล้องมาติดในห้องของลูกที่เข้าสู่วัยรุ่นนั้น จะเป็นอะไรหรือไม่ จะโดนลูกโกรธหรือเปล่าซึ่งในเรื่องนี้ มีความเห็นที่แตกต่าง และหลากหลายกันไปแล้วแต่การดูแลของแต่ละครอบครัว
แต่ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นมักทำให้เกิดการทะเลาะหรือการผิดใจกันได้เลยทีเดียวกับการติดกล้องค่ะซึ่งในต่างประเทศนั้น ปัญหาหรือความละเอียดอ่อนในการติดกล้องวงจรปิดในบ้านเป็นเรื่องที่ถกเถียงและมีการพูดคุยกันมาก่อนล่วงหน้าโดยมีทั้งนักจิตวิทยาเด็ก รวมไปถึงคุณหมอที่ดูแลเรื่องสุขภาพจิตเองที่ออกมาหใ้คำตอบว่านี่คือความหวังดี หรือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวกันแน่
และในบทความนี้เราก็จะมานำเสนอในมุมมองการติดกล้องวงจรปิดภายในห้องส่วนตัวหรือพื้นที่ส่วนตัวของลูกนั้น ส่งให้เกิดผลเสียอะไรบ้างค่ะพร้อมกับวิธีแก้ไขที่เหมาะสม มาลองทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันเลยค่า
ข้อเสียที่ 1
ลูกเริ่มรู้สึกไม่ไว้ใจพ่อแม่
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำนั้น คิดว่าการติดกล้องในห้องนอนของลูกนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรเพราะเราเป็นห่วง และอยากจะดูความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตของลูกแต่ในทางกลับกัน ลูกกลับรู้สึกว่าระแวง และไม่ไว้ใจการกระทำของพ่อแม่ เพราะเราคือผู้สร้างความไม่ไว้ใจขึ้นก่อนโดยการขอดูทุกช่วงเวลาของเขา
จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้สึก ยิ่งอยากมีความลับกับเรา มีอะไรก็ไม่อยากบอกเพราะรู้สึกว่า พูดหรือทำอะไรไป ก็คงไม่มีทางเลือก ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจของกันลดลง
ข้อเสียที่ 2
ลูกเกิดภาวะเครียดหรือเก็บกด
ในช่วงที่เราเริ่มเป็นพ่อแม่คนแล้วต้องแบ่งเวลาเกือบทั้งวันมาดูแลลูกเอง เรายังรู้สึกกันเลยใช่ไหมคะ ว่าเราก็ต้องการเวลาส่วนตัวบ้าง หรือได้มีพื้นที่ให้ได้เป็นตัวของตัวเอง ในเรื่งอนี้ก้เป็นปัญหาใหญ่อีกเช่นกัน เมื่อกล้องถูกติดอยู่ในจุดที่ไม่ควร อย่างห้องนอนหรือพื้นที่ส่วนตัวของลูกเพื่อเฝ้าดุพฤติกรรม เด็กจะเริ่มมีอาการระแวดระวัง และอาจรวมไปถึงความเครียดที่สะสมจากการถูกจับจ้องตลอดเวลา
แม้เราจะคิดว่านานๆ เปิดดูที ลูกไม่จำเป็นจะต้องสนใจ หรือเครียดกับมันมากนัก แต่ลูกก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเวลาไหนเราจะเช็ก หรือเปิดดูตามระยะเวลาที่กำหนดหรือเปล่า สุดท้ายก็เกิดความเครียดได้อยู่ที่ และส่งผลต่อพฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนไป หรือสภาวะทางกายและใจที่แย่ลงไปเรื่อยๆ
ข้อเสียที่ 3
ลูกอาจเกิดความไม่เข้าใจในสิทธิของตนเอง และมองว่าคนอื่นก็ทำได้ปกติ
หากเห็นว่าการติดและลูกเราไม่ได้ต่อต้าน หรือมองว่านี่เป็นเรื่องปกติ อาจส่งผลอันตรายในอนาคตอย่างคาดไม่ถึงเช่นการที่ลูกรู้สึกชินชากับการที่มีคนคอยติดตามชีวิต หรือการแอบตั้งกล้องไว้คอยสอดส่อง ส่งผลให้เมื่อไปเจอกับบุคลอื่นๆ ลูกอาจไม่ได้มีเกราะที่แกร่งพอจะปฏิเสธหรือแสดงท่าทีไม่พอใจเมื่อถูกแอบถ่ายจากบุคคลที่ไม่รู้จัก ตัวอย่างเช่นการถูกแอบถ่ายจากบุคคลอื่น ลูกจะไมไ่ด้รู้สึกว่าตัวเองถูกล่วงละเมิด หรือหากเจอว่ามีใครกำลังติดตามชีวิต ลูกอาจมองว่านี่คือเรื่องปกติ ไม่ระวังและก่อให้เกิดความสูญเสียทางร่างกาย หรือจิตใจได้ในที่สุด
สถานการณ์ใดถึงควรติดกล้อง?
ในกรณีการติดกล้องนั้นเรารู้กันอยู่แล้วว่า บ้านไหนที่มีเด็กเล็ก ก็จำเป็นที่จะต้องติดกล้องไว้เพื่อดูความปลอดภัย, ระวังสิ่งที่จะเกิดอย่างไม่คาดฝันขึ้นกับเด็กๆ ซึ่งในกรณีที่มีการติดนั้นมักจะมีสาเหตุจาก
- เด็กอยู่ในวัยช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- มีพี่เลี้ยงหรือคนงานอยู่ร่วมในบ้าน แต่ก็สมควรติดแค่ในจุดทางเข้าออกประตู หรือสถานี่ส่วนรวม
- สมาชิกในบ้านมีภาวะผิดปกติในร่างกาย อาทิ การชัก หรือหมดสติไปเอง, ป่วยหนัก
แต่ทว่า หากลูกเริ่มโต การติดกล้องนั้นจะเริ่มไม่จำเป็นเพราะลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว รวมไปถึงหากเกิดเรื่องอะไรขึ้น เขาก็จะสามารถส่งสัญญาณออกมาเอง ดังนั้นช่วงอายุที่ควรติดกล้องควรอยู่ที่แรกเกิดจนถึงตอนเริ่มช่วยตัวเองได้ 2-3 ขวบเท่านั้น หากเริ่มโตกว่านั้นก็ไม่มีเหตุจำเป็นอะไรให้ติดอีกค่ะ และแถมยังจะส่งผลเสียอีกเมื่อเกิดการติดและลูกหรือเด็กในบ้านมารับรู้ว่าถูกตามเฝ้ามองตลอดเวลา
สถานที่ที่ควรติด
- ตามหน้าประตูทางเข้าออก
- ส่วนกลางของบ้านที่ใครต่อใครสามารถผ่านไปมาได้
- จุดที่มีของมีค่า, ของแตกหักได้
สถานที่ที่ไม่ควร
- ห้องนอน
- ห้องน้ำ
- ห้องแต่งตัว
- ห้องส่วนตัวของสมาชิกในบ้าน
เราควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อทำความเข้าใจ มากกว่าการติดตามชีวิตกันตลอดเวลา
การพยายามติดตามชีวิตของลูกตลอดโดยเฉพาะพื้นที่ส่วนตัวอย่างน้องนอน หรือมุมนั่งนอนประจำของลูกนั้น จะอย่างไรก็ยังคงส่งผลเสียอยู่หลายประการที่ไม่ควรมองข้าม แม้เราจะหวังดี หรือรู้สึกเป็นห่วงลูกมากแค่ไหน ย่อมต้องทำอย่างสมเหตุสมผล และนึกถึงใจของลูกอยู่เสมอค่ะเพราะไม่งั้น เราไม่สามารถรุ้ได้เลยว่า หนึ่งในข้อเสียที่กล่าวมานั้นจะเกิดขึ้นมาได้ในตอนไหน ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดเมื่อเรารู้สึกอยากจะรับรู้เรื่องราวของลูก หรือต้องการให้ลูกเปิดใจจะเล่าเรื่องราวของตนเองให้มากขึ้น
- พูดคุยกันให้มากขึ้นด้วยการเจอหน้ากันไม่ผ่านตัวอักษร จะช่วยให้รับรู้ถึงความรู้สึก และท่าทีของอีกฝ่ายได้มากที่สุด
- เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก เพราะลองมองตนเองที่เป็นลูกและต้องคอยถูกจับตาตลอด 24 ชั่วโมง ก็คงจะไม่มีความสุขเช่นกัน หรือในมุมลูกเองที่ต้องคอยกังวลตลอดเวลาว่าพ่อแม่เป็นอะไร ทำไมมีอะไรไม่บอกบ้างเลย ก้คงทุกข์ไม่แตกต่าง
- หาข้อตกลงร่วมกันให้ทั้งสองฝ่ายได้มีสิทธิ์บอกความต้องการตนเอง เพื่อหาจุดกึ่งกลางให้กัน อย่างลูกสัญญาว่าจะไม่นอนเกินเที่ยงคืนไม่ต้องกังวลก็ต้องนอนจริง พ่อแม่สัญญาว่าจะเชื่อใจไม่สอดแนม ก็ต้องไว้ใจลูกจริงๆ อย่าบอกว่าไว้ใจแต่ก็ยังคอยแอบมองหรือแอบใส่กล้องไว้ติดตาม
หากเราเคารพในพื้นที่ซึ่งกันและกัน ปัญหาการทะเลาะหรือการต้องผิดใจเพราะไม่ยอมให้พื้นที่ส่วนตัวกันและกันก็จะหมดไปค่ะ ลองปรับความเข้าใจ และพยายามให้พื้นที่, ความเป็นส่วนตัวกับลูกเพิ่มขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจได้ลูกที่ยอมรับและเปิดใจบอกกับเราทุกอย่างด้วยตัวเขาเองโดยที่เราไม่ต้องพยายามแอบตามทุกก้าวก็ได้นะคะ
ที่มา reolink , เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน