คุณแม่อาจจะเหนื่อยทั้งงานบ้านและงานข้างนอกจนเผลอพูดบางคำออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจและมีผลกระทบมากกว่าที่คิดก็เป็นได้ จะมีคำพูดใดที่ไม่ควรพูดบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ
ทำแบบนี้เดี๋ยวโดนตำรวจจับนะ
การไปขู่ลูกด้วยการหลอกว่าตำรวจจะมาจับ จะทำให้ลูกกลัวตำรวจและไม่มีเหตุผลไปได้ ลองเปลี่ยนเป็นการให้เหตุผลที่สอดคล้องกัน จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดียิ่งกว่า ถ้ายังหลอกไปเรื่อยๆ จนลูกโตในระดับนึงแล้วรู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริงจะยิ่งไม่เชื่อฟังเข้าไปใหญ่ค่ะ
ทำไมน่ารำคาญแบบนี้
คำพูดนี้บั่นทอนความรู้สึกเชื่อมั่น อาจจะทำให้ลูกเริ่มไม่มั่นใจว่าตกลงพ่อแม่ยังรักอยู่หรือไม่ ความมั่นคงในจิตใจของลูกเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นพื้นฐานต่อไปในอนาคตค่ะ
หยุดกวนซะที
บางครั้งคุณแม่ต้องการเวลาส่วนตัวบ้าง แต่ถ้าคุณแม่บอกลูกว่าอย่ามายุ่งบ่อยๆ ลูกอาจไม่คุยกับคุณแม่อีกต่อไป ยังไงลองอธิบายให้ลูกฟัง เช่น คุณแม่ขอเวลาทำธุระส่วนตัวสัก 2-3 นาที แล้วจะคุยกับลูกอีกทีค่ะ
ต่อว่าลูก
การบอกว่าลูกเป็นคนซุ่มซ่ามหรือนิสัยไม่ดีไม่ได้ช่วยให้เด็กมีความมั่นใจหรือรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้พูดกับลูกโดยตรงก็ตาม สุดท้ายลูกก็จะเชื่อว่าพวกเขาแย่อย่างที่คุณแม่พูดจริงๆ มาสร้างความมั่นใจให้ลูกจะดีกว่านะคะ
เก็บอารมณ์เดี๋ยวนี้
คุณแม่มักจะหวังดี พยายามปกป้องลูกโดยการบอกลูกว่าไม่ต้องเศร้า หรือไม่ต้องกลัว เพียงเพื่อบล็อกอารมณ์ลูกไม่ให้เกิดปัญหาทีหลัง ทั้งที่จริงแล้วการเก็บอารมณ์มากจนเกินไปและไม่แสดงออกนั้นจะทำให้ลูกเป็นคนเก็บกดและระเบิดอารมณ์ในภายหลังได้ค่ะ
ทำไมไม่เหมือนลูกบ้านอื่น
คุณแม่ไม่ควรเปรียบเทียบลูกคนหนึ่งกับลูกอีกคน หรือลูกของคนอื่น เราควรเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันและคุณแม่ก็รักที่พวกเขาแตกต่างกัน พยายามทำให้ลูกรู้ว่าพวกเขาพิเศษกันคนละแบบจะดีที่สุดค่ะ
ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าลูกทำอย่างนั้น
การที่ไปบอกลูกว่า “ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าลูกทำอย่างนั้น” จะทำให้ลูกขาดความมั่นใจ โตขึ้นโดยรู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดและก็ไม่มีวันทำอะไรถูกสักอย่าง พยายามพูดกับลูกดีๆ แทนที่จะพูดกระโชกโฮกฮากตลอดเวลาค่ะ
เดี๋ยวตีเลย
หลายคนคิดว่าการลงไม้ลงมือจะทำให้ลูกเชื่อฟังในเวลารวดเร็ว หารู้ไม่ว่าการตี หรือการลงโทษหนักๆ อาจไม่ส่งผลดีเสมอไป มันอาจใช้ได้ผลแค่ในช่วงแรก แต่สุดท้ายมันก็จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปค่ะ
รอให้พ่อรู้ก่อนเถอะ
บางทีคุณแม่มักจะขู่ด้วยประโยคเดิมๆ อย่าง “เดี๋ยวรอให้พ่อรู้ก่อนเถอะ” ปัญหาก็คือ เมื่อลูกๆ โตขึ้น เขาก็จะรู้ว่าคุณแม่ก็แค่ขู่ไปอย่างนั้นโดยไม่ทำอะไร และก็จะพาลไม่ฟังคุณแม่ก็เป็นได้ค่ะ
ชมพร่ำเพรื่อ
ในขณะเดียวกัน การชมพร่ำเพรื่อก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ถ้าชมลูกบ่อยเกินไปแล้ว คำชมนั้นก็จะไร้ความหมาย และกลายเป็นว่าลูกคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่จะได้รับคำชม คำชมควรถูกสงวนไว้สำหรับวาระสำคัญเท่านั้นค่ะ
สั่งให้ทำ
แม้หน้าที่คุณแม่นั้นควรสอนให้ลูกฟังในสิ่งที่เราพูด ยังไงเสียก็ไม่ควรพูดลอยๆ โดยไม่มีเหตุผล และไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติมเลย มิเช่นนั้นลูกจะมีความเคยชินว่าทำตามคำสั่งไปวันๆ ค่ะ
ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง
ถือเป็นคำที่ฟังแล้วทำให้ลูกเสียความมั่นใจเป็นอย่างมาก ทำให้ลูกไม่กล้าลองสิ่งใหม่ๆ อีกต่อไป ซึ่งเป็นผลเสียในระยะยาว ลองเปลี่ยนเป็นคำพูดให้กำลังใจเวลาลูกทำสิ่งที่ไม่เคยทำน่าจะดีกว่าค่ะ
หุบปากแล้วอยู่เงียบๆ
เด็กในวัยหัดพูดนั้นมักจะพูดตลอดเวลา อาจจะพูดผิดพูดถูกบ้าง ถ้ามีการพูดจาไม่เหมาะสม คุณแม่ควรจะสอนดีๆ แทนที่จะบอกให้หุบปาก มิเช่นนั้นลูกจะเก็บกด ไม่กล้าแสดงออก และมีพัฒนาการทางการพูดที่ช้าลงค่ะ
เป็นลูกผู้ชายหน่อย
คำๆ นี้ไม่ควรคุยกับลูกเลย นอกจากจะปิดกั้นพัฒนาการแล้ว ยังทำให้ลูกสับสนกว่าเดิมว่าการเป็นลูกผู้ชายนั้นต้องทำยังไง อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรอธิบายเพิ่มเติมว่าลูกควรทำอะไรบ้างและเพราะอะไรค่ะ
ทำแบบนี้เดี๋ยวไม่รักนะ
คำว่าไม่รักมักกระทบความรู้สึกในจิตใจลูกเป็นอย่างมาก ถึงแม้จะคิดว่ายังไงลูกก็รู้อยู่แล้วว่าคุณแม่รัก แต่ในความเป็นจริงแล้วคำพูดนี้บั่นทอนความรู้สึกมากค่ะ
ล้อเลียนข้อด้อย
ถือเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ควรล้อเลียนหรือเรียกลูกด้วยชื่ออื่น ๆ ที่อาจทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ เช่น อ้วน แห้ง สิว ฯลฯ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามค่ะ
ถ้าหนูทำ…อย่างนี้ แล้วแม่จะให้
การติดสินบนลูกนั้น จะทำให้ลูกรู้สึกว่าทำเพียงให้ได้รางวัลแต่ไม่ได้เกิดจากความพยายามส่วนตัว ลูกจะเรียนรู้ว่าการทำความดีต้องมีสินจ้างรางวัล และยิ่งหากคุณแม่ลืมคำสัญญาที่ให้กับลูกด้วยแล้ว ลูกจะเรียนรู้ว่าคำสัญญานั้นไม่มีความหมายอะไร และมีปัญหาอื่นๆ ตามมาค่ะ
แม่ตัดหนูแล้วนะ สิ้นสุดกันที
เมื่อคุณแม่โกรธอาจพูดว่าแม่ตัดแล้ว ไม่เอาแล้วลูกคนนี้ แต่ในความเป็นจริงลูกยังต้องพึ่งที่อยู่อาศัย อาหาร ความรักความปลอดภัยจากคุณแม่คุณพ่ออยู่ ดังนั้นถ้าพูดไปอาจจะทำร้ายความรู้สึกของลูกและจะทำลายความสัมพันธ์ของคุณแม่กับลูกด้วยค่ะ
ไม่น่าเชื่อว่าลูกคิดในเรื่องไร้สาระแบบนี้
เมื่อลูกเดินกระแทกเท้าหรือชนประตูแบบไม่ปกติ อาจมีเรื่องกังวลใจก็เป็นได้ เมื่อถูกต่อว่าเขาจะรู้สึกเหมือนว่าถูกปฏิเสธ ไร้ค่า โกรธ หงุดหงิดและต้องการแยกตัวออกห่างจากคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ทางที่ดีควรรอจังหวะที่เหมาะสมแล้วพูดว่า แม่อาจเห็นเรื่องนี้ในมุมมองที่แตกต่างออกไป ไหนลองเล่าเรื่องของหนูใหม่อีกครั้ง แล้วเรามาหาข้อสรุปร่วมกันอีกที เหตุการณ์นี้ก็จะดีขึ้นค่ะ
เป็นเด็กขี้แพ้ตลอด
การที่เรียกลูกว่าเด็กขี้แพ้ งอแงตลอดจะทำให้ลูกรู้สึกละอายแทนที่จะพูดอย่างนั้น คุณแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักการฝึกฝนและพยายาม การที่คุณแม่พูดทำร้ายจิตใจลูก แทนที่ลูกจะมีความพยายามขึ้นจะยิ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมถดถอย ละอายใจ ขาดความเชื่อมั่นและไม่กล้าตัดสินใจมากขึ้นค่ะ
จะเห็นได้ว่าบางคำพูดนั้นอ่อนไหวมากกว่าที่คุณแม่คิดไว้มาก ก่อนจะพูดอะไรนั้นขอให้คิดก่อนที่จะพูดออกมา ทั้งนี้เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูกค่ะ
ที่มา