ในยุคนี้การเลี้ยงลูกให้โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะพวกเราต้องมีทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นให้เป็นด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ชาว Parents One เคยสงสัยกันไหมคะว่า ทำไมเด็กฝรั่งต่างชาติถึงกล้าออกมาเผชิญโลกภายนอก ดูแลตัวเองได้ กล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ และสามารถรับมือกับความกดดันต่างๆ ในชีวิตได้ดีกว่าเด็กไทย?
นั่นเพราะพวกเขาได้รับการเลี้ยงดู และการปลูกฝังที่แตกต่างจากบ้านเรานั่นเองค่ะ แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่า ทำไมคุณพ่อคุณแม่ชาวต่างชาติถึงไว้ใจ และกล้าปล่อยลูกให้ออกไปผจญภัยในโลกกว้างด้วยตัวเองอยู่บ่อยครั้ง วันนี้เรามีคำตอบมาบอกกันค่ะ
ทั้งหมดนั่นเกิดจากการที่ทุกๆ บ้านมักจะมีกฎให้เด็กๆ รู้ว่าสิ่งไหนควรทำ และสิ่งไหนที่ไม่ควรทำ เมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จึงกลายเป็นคนที่มีคุณภาพ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขนั่นเอง เราลองไปดูตัวอย่างของ “กฎ 15 ข้อ ที่สอนให้ลูกดูแลตัวเองเป็น” กันเลย (แต่ขอบอกไว้ก่อนว่ากฎของแต่ละบ้านก็จะแตกต่างกันไปนะคะ แล้วแต่ไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัวค่ะ)
ข้อที่ 1 : ล็อคกลอนทุกครั้ง หลังจากที่เข้า-ออกจากบ้าน
บ้าน ถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่า และสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตของเราได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกๆ รู้จักล็อคกลอนทุกครั้ง หลังจากที่เข้า-ออกจากบ้าน เพราะอาจมีโจร หรือมิจฉาชีพที่คิดร้ายอาจมาทำอันตรายต่อลูก และทรัพย์สินของเราได้
อีกเรื่องที่สำคัญเช่นกัน นั่นคือ การเก็บกุญแจไว้ใกล้กับตัวเอง เพื่อความปลอดภัยของชีวิต หากมีสิ่งอันตรายเกิดขึ้นในบ้าน ลูกๆ จะได้หนีทันด้วยค่ะ
ข้อที่ 2 : จำกัดเวลาการดูหน้าจอของทุกคนในครอบครัว เพื่อที่จะได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน
ถ้าต่างคนต่างก้มดูแต่โทรศัพท์มือถือ เราก็จะไม่มีเวลาได้มองหน้ากัน นั่นยิ่งทำให้สายสัมพันธ์ของครอบครัวลดลงไปอีก ทางที่ดี คือการเล่นโทรศัพท์ในเวลาที่พอดีนั่นเอง
ข้อที่ 3 : กลับบ้านให้ตรงเวลา
ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถไปรับลูกที่โรงเรียนได้ ก็ควรไปรับลูกให้ตรงเวลา เพื่อให้ลูกสามารถแบ่งเวลาที่จะเล่น และเรียนได้อย่างเป็นระบบและมีแบบแผน โดยที่ไม่ต้องมานั่งรอผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว
ข้อที่ 4 : สอนลูกให้เป็นคนกล้าแก้ไข เมื่อทำผิดพลาดต่อผู้อื่น
ไม่ใช่คนเก่งเพียงอย่างเดียวเสมอไปที่สังคมต่างต้องการตัว เพราะผู้ที่กล้ายอมรับความผิดพลาด เมื่อตัวเองทำผิดจริงๆ ได้อย่างภาคภูมิ จะทำให้คนนั้นกลายเป็นที่รักของคนในสังคมไปโดยปริยาย เราจึงต้องสอนให้ลูกได้เรียนรู้ ถึงแม้ว่าจะเจ็บปวดก็ตาม
ข้อที่ 5 : สอนลูกให้พูดความจริง และต้องพูดความจริงกับลูก
ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย เพราะฉะนั้นการกล้าพูดความจริง ไม่เป็นเด็กโกหก จึงสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการเลี้ยงดู และการปลูกฝังความคิดของเด็กๆ กลับกันคนที่เป็นผู้ใหญ่ก็ต้องพูดความจริงกับลูกเช่นกัน
ข้อที่ 6 : สอนลูกให้รู้จักคุณค่าของ “คำขอร้องและคำขอบคุณ” ให้เป็นนิสัย
2 คำนี้ คือคำที่ทำให้เราสามารถได้ทุกอย่างที่อยากได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของ “คำขอร้องและคำขอบคุณ” พูดให้ติดเป็นนิสัย แล้วคนจะรักและเอ็นดู
ข้อที่ 7 : ฝึกวินัยให้แปรงฟันทุกวัน และยืดหยุ่นร่างกาย
การดูแลความสะอาดของร่างกายของลูก คือสิ่งที่เราไม่ควรละเลย การสอนให้ลูกแปรงฟัน และยืดหยุ่นร่างกายทุกวัน ก็เพื่อที่จะได้มีสุขลักษณะ และบุคลิกภาพที่ดี ถือเป็นความประทับใจครั้งแรกในการเจอหน้ากัน และพูดคุยกัน เป็นการสานสัมพันธ์กับเพื่อนที่ดี
ข้อที่ 8 : พาลูกเข้าร่วมสังคมกับครอบครัว และญาติพี่น้อง
การพาลูกไปแนะนำให้ญาติๆ ได้รู้จัก และเอ็นดูเป็นผลดีในอนาคต เพราะนอกจากลูกจะได้รู้จักกับญาติๆ แล้ว เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะได้ช่วยเหลือกันได้ ทำให้คำว่าครอบครัวเด่นชัดด้วยความรักขึ้นอีกต่างหาก
ข้อที่ 9 : เลือกใช้คำพูดอย่างชาญฉลาด
คนบนโลกมีหลายประเภท การเลือกใช้คำพูดกับคนแต่ละประเภทก็สำคัญเช่นกัน ควรเลือกให้ฉลาด และเหมาะสมกับคนนั้นๆ แล้วทุกสิ่งจะสมปรารถนา
ข้อที่ 10 : สอนให้ลูกฟัง และเคารพผู้ที่อาวุธโสกว่า
แม้ว่าอายุจะไม่สามารถวัดพื้นฐานทางความคิด และความประพฤติที่ดีได้ แต่การเป็นเด็กที่รู้จักสัมมาคารวะ รู้จักเคารพผู้ที่อาวุธโสกว่าก็ย่อมได้เปรียบกว่าเด็กที่ไม่รู้กาลเทศะนั่นเอง
ข้อที่ 11 : สอนให้ลูกเป็นคนเปิดใจ ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
เราไม่สามารถที่จะทำให้ทุกคนมีความคิดเห็นตรงกับเราได้หมด แต่การเปิดใจ และการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจะทำให้ปัญหาจากใหญ่กลายเป็นปัญหาเล็กได้ ด้วยกันปรับความคิดของตัวเราเอง
ข้อที่ 12 : อย่าบูลลี่คนอื่น ทั้งทางร่างกาย + วาจา
การกลั่นแกล้งผู้อื่น คือปัญหาที่เด็กทั่วโลกได้เจอ เราคงไม่อยากให้ลูกกลายเป็นนางมารร้ายในชีวิตของใคร แล้วก็ไม่อยากให้ใครมาเป็นนางมารร้ายในชีวิตของลูกเราเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเราอยากให้ผู้อื่นดีกับเรา เราก็ต้องดีกับผู้อื่นก่อนนั่นเอง
ข้อที่ 13 : สอนลูกให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ไม่ทำตัวเป็นม้าอารี
การรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ควรที่จะทำให้ตัวเองเดือดร้อนเช่นกัน ควรรู้จักปฏิเสธในสิ่งที่ทำไม่ได้บ้าง เพื่อให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น
ข้อที่ 14 : สอนให้พวกเขารู้จักคุณค่าของเงิน ไม่ใช้จ่ายของฟุ่มเฟือย
กว่าจะได้เงินมาเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ต้องแลก และเสียสละมากับอะไรหลายอย่าง ดังนั้น เราจึงควรสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน การเก็บหอมรอมริบ ไม่ใช้จ่ายซื้อของฟุ่มเฟือยซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างอนาคตของลูกนั่นเอง
ข้อที่ 15 : พูดแล้วต้องทำจริง เพราะทุกคำพูดคือนายเรา
ก่อนที่จะพูด หรือรับปากอะไรกับใคร ควรคิดให้ดีก่อนพูด ถ้าพูดไปแล้วต้องทำได้จริง เพราะทุกคำพูดคือนายของเรา ถ้าพูดแล้วทำไม่ได้จริง คนอื่นอาจจะนินทาและว่ากล่าวตักเตือนได้
เป็นอย่างไรบ้างคะกับ “กฎทั้ง 15 ข้อ” ที่ได้ยกตัวอย่างกันไปข้างต้น ซึ่งจะเห็นว่าทุกข้อที่ได้ยกตัวอย่างมานั้น ได้รวมเรื่องราวของสิ่งต่างๆ และความจำเป็นที่เด็กๆ ควรจะต้องรู้ และทำให้เป็นนิสัยเพื่อความปลอดภัยแก่ตัวเอง และรักษาหัวใจของผู้อื่นมาให้แล้วนั่นเอง
คุณพ่อคุณแม่ทุกครอบครัวสามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้กันได้ทุกข้อเลย แต่ไม่ต้องถึงขนาดบังคับเคร่งเครียดกับลูกขนาดนั้นนะคะ ให้ถือว่าเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกให้โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขก็พอค่ะ