เจอกี่ครั้งกี่หนก็ไม่เคยชิน ได้ยินเสียงร้องอุแว้ต้องมีสะดุ้งตลอด ร้อยทั้งร้อยคุณพ่อคุณแม่คงต้องเคยประสบปัญหาถูกเจ้าตัวน้อยช่วงชิงความสงบด้วยเสียงร้องไห้โยเย และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ง่ายๆ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความอดทนเพียงอย่างเดียวคงไม่พออีกต่อไป ถึงคราวต้องงัดวิชาขึ้นมาใช้ปลอบให้สงบ!
มาเรียนรู้วิธีหยุดน้ำตาเบบี๋จอมงอแงอย่างง่ายๆ ที่สามารถปรับใช้ได้ที่บ้าน แถมยังเป็นวิธีที่อ่อนโยน ไม่สร้างความรู้สึกแย่ๆ หลงเหลือทิ้งไว้แน่นอน ลองวิธีแรกไม่ได้ไม่เป็นไร ยังมีวิธีที่ 2 วิธีที่ 3 วิธีที่ 4 อีกมากมาย เพราะเราจัดมาให้ถึง 12 วิธี ไม่หยุดร้องไม่ได้แล้ว
1. ใช้ผ้าห่อตัว เพิ่มความอบอุ่น
ใช้ผ้าห่อตัวลูกเอาไว้ตั้งแต่ช่วงตัว แขน ขา เว้นช่วงศีรษะเอาไว้ป้องกันการหายใจไม่ออก และต้องมั่นใจว่าไม่ห่อแน่นเกินไปจนอึดอัด วิธีนี้ได้ผลดีเชียวล่ะค่ะ ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยคุ้นเคยเหมือนอยู่ในท้องคุณแม่เลย
2. ถึงเวลาจุกหลอกออกโรง
เหมาะกับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่มีความสุขกับการดูด ชอบขยับปากตลอดเวลา การได้ดูดจุกนมก็ช่วยให้ผ่อนคลายแถมยังลดความเสี่ยงที่ลูกจะกินนมมากเกินไป
3. หรี่ไฟห้องนอนสักหน่อย
เด็กทารกล้วนแล้วแต่ไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างแสงหรือเสียงในชีวิตประจำวัน เมื่อไรก็ตามที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับในท้องของคุณแม่ ทั้งมืดและอบอุ่น จากที่เคยร้องไห้จ้าก็อาจค่อยๆ นิ่งและสงบลงในที่สุด
4. เสียง White noise ฟังเพลิน
เสียง White noise คือเสียงที่ดังขึ้นสม่ำเสมอ สร้างความสงบให้กับจิตใจ คุณพ่อคุณแม่สามารถหาเสียงเหล่านี้ได้ทั่วไปจากของใกล้ตัว เช่น ไดร์เป่าผม เครื่องซักผ้า พัดลม หรือเปิดจากโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ใกล้มือ การทำเสียง “ชู่ว ชู่วว” กระซิบเบาๆ ข้างหูก็ทำให้ลูกสงบลงได้เหมือนกันค่ะ
5. ลองฮัมเพลง
เด็กทารกชอบฟังเสียงของคุณแม่ ในขณะเดียวกันก็ชอบเสียงเพลงด้วย เวลาที่ลูกงอแงให้ลองฮัมเพลง ฮัมทำนองที่เราคุ้นเคยดู อย่าลืมสังเกตด้วยนะคะว่าเราฮัมเพลงไหนแล้วเจ้าตัวน้อยนอนพริ้มยิ้มหวานชอบใจ เพราะเพลงนั้นอาจจะกลายเป็นไม้ตายสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ได้หยิบยกมาใช้บ่อยๆ แน่นอน
6. ท่าอุ้มก็สำคัญนะ
รู้ไหมคะว่าท่าอุ้มเองก็มีความสำคัญ โดยพื้นฐานแล้วการอุ้ม การสัมผัสช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นทั้งกายใจ และทำให้สงบลงได้อยู่แล้ว แต่หากอุ้มลูกด้วยท่าไหนอยู่แล้วลูกร้องไห้งอแง ให้ลองเปลี่ยนท่าอุ้มดู
เช่น เปลี่ยนไปอุ้มด้วยท่าซูเปอร์แมน จับลูกนอนคว่ำบนแขน 2 ข้าง โยกซ้ายขวาเบาๆ หรือท่าเซิ้งกระติ๊บ อุ้มลูกแล้วย่อขาสลับซ้ายขวา ให้มีการเปลี่ยนระดับการเคลื่อนไหวคล้ายกับตอนลูกลอยตัวในน้ำคร่ำ โดยต้องไม่ลืมคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญนะคะ
7. เบี่ยงเบนความสนใจ
การเบี่ยงเบนความสนใจเป็นอีกวิธีที่ใช้ได้บ่อยๆ และได้ผลรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ทำได้ง่ายๆ แค่มองหาสิ่งของที่อยู่รอบตัว ของเล่นของใช้ที่ส่งเสียงได้ หรือพาเดินไปที่กระจกเงา ชี้ชวนลูกดูตัวเองที่อยู่ในนั้น เท่านี้ก็จะทำให้ลูกเปลี่ยนมาสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแทน และลืมไปว่าตัวเองกำลังร้องไห้อยู่
8.โยกไปโยกมาเบาๆ
กอดลูกไว้แนบอกแล้วลองเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ ค่อยๆ โยกไปโยกมา หรือจะเดินไปเดินมาเป็นระยะทางสั้นๆ ก็ได้เช่นกันค่ะ การเคลื่อนไหวแบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกเพลิดเพลิน ไม่งอแง วิธีนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องทนเมื่อยกันสักนิด ถ้าไม่ไหวลองนั่งกล่อมบนเก้าอี้โยก หรือหาเป้อุ้มเด็กมาช่วยทุ่นแรงดูนะคะ
9. จับลูกเรอ
บางครั้งลูกก็ร้องไห้เพราะความอิ่มเกินพอดี ทำให้อึดอัดแน่นท้องไม่สบายตัว กลายเป็นสาเหตุของการร้องไห้ไม่หยุดหย่อน ทุกครั้งที่ลูกกินนมเรียบร้อย ลองอุ้มลูกแล้วใช้มือลูบหรือตบหลังเบาๆ ให้เรอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ลูกสบายตัวขึ้น
10. นวดสัมผัสผ่อนคลาย
การนวดตัวทำให้เจ้าหนูสบายตัวนอนหลับปุ๋ย แถมคุณพ่อคุณแม่เองก็จะรู้สึกผ่อนคลายตาม ระหว่างที่นวดลองชวนพูดคุย ยื่นหน้าเข้าไปใกล้ๆ ให้ลูกได้เรียนรู้อวัยวะบนใบหน้าก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ แถมยังช่วยสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก พ่อลูกอีกด้วย เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายสิบตัวค่ะ
11. เปลี่ยนบรรยากาศ เปิดหูเปิดตา
ออกนอกบ้านไปเปิดหูเปิดตากันเถอะ พาลูกเดินเล่น เปลี่ยนบรรยากาศ สิ่งรอบๆ ตัวจะช่วยดึงดูดความสนใจและปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าลูกจะยังร้องไห้จ้า แต่การได้ออกมาสูดอากาศข้างนอกอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เครียดน้อยกว่านั่งอุดอู้ในบ้านและมีใจที่พร้อมแก้ปัญหา พร้อมรับมืออาการงอแงต่อไป
12. ขอเวลานอก แปะมือเปลี่ยนตัว
ยิ่งนานยิ่งเหนื่อย ยิ่งพยายามยิ่งท้อ การรับมือกับอาการร้องไห้งอแงของลูกโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไรทำให้เหนื่อยกายเหนื่อยใจเป็นธรรมดา ปล่อยไว้นานๆ อาจกลายเป็นความเครียด และยิ่งเครียดมากๆ ก็จะพาลทำให้เราหงุดหงิดลูกง่ายขึ้นไปอีก เมื่อลองทำทุกวิถีทางแล้วไม่สำเร็จ คงถึงเวลาแปะมือขอเปลี่ยนตัว เปลี่ยนเป็นคุณพ่อ คุณตา คุณยาย หรือพี่เลี้ยงมารับมือแทน
ระหว่างนั้นอย่าลืมพักผ่อนให้เต็มที่ ให้เวลาตัวเองพักหายใจ และอย่าคิดโทษโกรธตัวเองไปเลยนะคะ เพราะการร้องไห้เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กวัยนี้ พอโตขึ้นจะเริ่มร้องไห้น้อยลง แต่ถ้าลูกมีอาการร้องไห้ผิดปกติ มีอาการเจ็บป่วยร่วม หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงสภาพจิตใจพ่อแม่แย่ลงจากการไม่สามารถปลอบลูกให้สงบได้ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไขค่ะ
ที่มา :