การมีลูกถือเป็นหนึ่งในการวางแผนครอบครัว แต่ถ้าเรายังไม่พร้อมก็คงต้องมีการป้องกัน (ไม่ว่าจะเป็นคู่สามี-ภรรยา หรือคู่รักก็ตาม) การคุมกำเนิดไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทั้งผ่ายหญิงและฝ่ายชายที่จะต้องช่วยกัน โดยการป้องกันหรือการคุมกำเนิดนั้นก็มีหลากหลายวิธีมากๆ วันนี้เราจึงรวบรวมวิธีการคุมกำเนิดเมื่อยังไม่พร้อมมีเจ้าตัวเล็กมาฝากค่ะ
การคุมกำเนิดของผู้หญิง
ยาเม็ดคุมกำเนิด
ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน) จะช่วยยับยั้งการตกไข่ แปรสภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกให้ตัวอ่อนฝังตัวไม่ได้ มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น จนเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนตัวของอสุจิ
ประเภทของยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดมี 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนรวมกับฮอร์โมนเดี่ยว
1. ฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptive pill) เป็นยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตรเจนรวมกันในเม็ดเดียว
ข้อดี
- หาซื้อได้ง่าย
- หลังหยุดกินแล้วสามารถตั้งครรภ์ได้เลยในเดือนถัดมา
- ประจำเดือนมาสม่ำเสมอตามปกติ
- ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งมดลูกและรังไข่
ข้อเสีย
- ต้องมีวินัยในการกินยาให้สม่ำเสมอ
- ใช้ยาต่อเนื่องเกิน 5 ปี เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก
2. ฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen only pill) เป็นยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว ทำออกมาเพื่อลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน มักใช้ในแม่ที่ให้นมบุตร
ข้อดี
- หาซื้อได้ง่าย
- แม่หลังคลอดที่ให้นมลูกใช้ได้
- หลังหยุดกินแล้วสามารถตั้งครรภ์ได้เลยในเดือนถัดมา
ข้อเสีย
- จะไม่มีประจำเดือนเป็นรอบๆ อาจไม่มีประจำเดือนเลย หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอย
วิธีการกินยาคุม
คือ กินทุกวันวันละ 1 เม็ด กินตามลำดับของลูกศรที่ชี้ไปเรื่อยๆ จนหมดแผง
- ยาคุมแบบ 21 เม็ด (มีแต่ชนิดฮอร์โมนรวม) : ถ้ากินหมดแผงแล้วก็ให้เว้นไป 7 วัน แล้วเริ่มกินยาแผงใหม่ในวันที่ 8
- ยาคุมแบบ 28 เม็ด : กินให้ครบจนหมดแผงแล้วเริ่มกินแผงใหม่ได้เลย (แนะนำให้กินแบบนี้จะได้ไม่ลืมกินแผงใหม่)
ผลข้างเคียง
- ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้
- คัดตึงเต้านม
- น้ำหนักขึ้น
- หน้าเป็นฝ้า
ยาฝังคุมกำเนิด
เป็นการนำฮอร์โมนโปรเจสตินบรรจุไว้ในหลอดหรือแท่งพลาสติกขนาดเล็กเท่าขนาดหลอดยาคูลท์ มาฝังไว้ที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนฝั่งที่ไม่ถนัด ฮอร์โมนจะค่อยๆ ซึมผ่านจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกายและไปยับยั้งไม่ให้มีการตกไข่ ฝังครั้งเดียวคุมได้นาน 3-5 ปี
ข้อดี
- ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก (รองจากการไม่มีเพศสัมพันธ์)
- สะดวก
- ไม่มีผลต่อการหลั่งน้ำนม
- หลังถอดสามารถมีลูกได้เร็วกว่าการฉีดยาคุมกำเนิด
ข้อเสีย
- ต้องฝังและถอดโดยแพทย์ ทำเองไม่ได้
- บางรายอาจคลำเจอแท่งยาในบริเวณใต้ท้องแขนได้
- ประจำเดือนอาจมาแบบกะปริบกะปรอย
ยาฉีดคุมกำเนิด
ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของผู้หญิงในระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด โดยตัวยาจะค่อยๆ ขับฮอร์โมนออกมา ฉีดครั้งละ 1 เข็ม คุมกำเนิดได้นาน 3 เดือน โดยเริ่มฉีดในวันแรกของการมีประจำเดือนหรือภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน
ข้อดี
- ราคาถูก
- สามารถหาฉีดได้ง่าย
- มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก
- สะดวก ใช้งานง่าย
ข้อเสีย
- เมื่อหยุดฉีดยังไม่สามารถมีลูกได้ทันที ต้องรออย่างน้อย 9 เดือน
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ กะปริบกะปรอย หรือไม่มีประจำเดือนเลย
ผลข้างเคียง
- น้ำหนักขึ้น
- ปวดหัว
- อารมณ์แปรปรวน
แผ่นแปะคุมกำเนิด
ใช้แปะบริเวณผิวหนัง (ที่ไหนก็ได้) เพื่อให้ตัวยาในกลุ่มเอสโตรเจนสังเคราะห์ (Synthetic estrogen) และยาในกลุ่มโปรเจสติน (Progestin) ค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนควบคุมออกมาและซึมเข้าสู่กระแสเลือด ออกฤทธิ์โดยป้องกันไม่ให้ไข่ตก
ข้อดี
- ใช้งานง่าย สามารถอาบน้ำหรือว่ายน้ำได้ตามปกติ
- ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา
- หลังเลิกใช้ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ทันที
ข้อเสีย
- ต้องคอยเปลี่ยนแผ่นยาเมื่อครบ 7 วัน
- อาจมีการระคายเคืองบริเวณที่แปะแผ่นคุมกำเนิด
นับวันปลอดภัย
เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ ใช้กับผู้หญิงที่มีรอบเดือนปกติ โดยจะเป็นการนับหน้า 7 หลัง 7 โดยระยะปลอดภัยที่ว่านี้ก็คือ ระยะในช่วง 7 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมารอบหน้า และระยะ 7 วันหลังจากที่ประจำเดือนมาวันแรก (ให้เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมา) เช่น ถ้าประจำเดือนมาวันที่ 25 ระยะปลอดภัยคือ 18-24 และ 25-31
ข้อดี
- ไม่ต้องกินยา
ข้อเสีย
- ถ้าประจำเดือนมาไม่ตรงก็อาจคลาดเคลื่อนได้ และทำให้ตั้งครรภ์ได้
ห่วงอนามัย
เป็นเครื่องมือแพทย์ชิ้นเล็กๆ ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกของผู้หญิง เพื่อให้สภาพในมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน สามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-10 ปี มี 2 ประเภท
- ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง : ในปัจจุบันที่ใช้กันอยู่จะมี 2 ชนิด คือ มัลติโหลด (มีอายุการใช้งาน 3-5 ปี) และคอปเปอร์ที (มีอายุการใช้งาน 10 ปี)
- ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน : มีอยู่ด้วยกัน 2 ขนาด คือ LNg14 (Skyla®) ที่ใช้คุมกำเนิดได้นาน 3 ปี และ LNg20 (Mirena®) ที่ใช้คุมกำเนิดได้นาน 5 ปี
ข้อดี
- สะดวก ประหยัดและปลอดภัยสูง
- มีประสิทธิภาพสูงและยาวนาน
- มีประจำเดือนตามปกติ
- เมื่อถอดห่วงออกก็มีลูกได้ทันที
ข้อเสีย
- ต้องให้แพทย์เป็นผู้ใส่ให้
- อาจมีอาการแทรกซ้อน
วงแหวนคุมกำเนิด
เป็นแหวนพลาสติกขนาดศูนย์กลาง 5.5 เซนติเมตร ตัววงแหวนนุ่มและยืดหยุ่น ไม่ละลายในร่างกาย ภายในวงแหวนพลาสติกจะบรรจุไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน ใช้สำหรับใส่เข้าไปในช่องคลอดและฮอร์โมนจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ์
ข้อดี
- สวมและถอดง่ายด้วยตัวเอง
- ช่วยลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกกะปริบกะปรอย
ข้อเสีย
- ต้องใช้ใบสั่งของแพทย์ในการซื้อ
- เมื่อใส่แล้วจะไม่คุมกำเนิดได้ทันที ต้องคุมกำเนิดอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย
- บางรายอาจระคายเคืองช่องคลอด
ทำหมัน
เป็นการตัดท่อนำไข่ ไม่ให้อสุจิเดินทางมาเจอไข่ ซึ่งการทำหมันมี 2 แบบ คือ หมันเปียกกับหมันแห้ง
- หมันเปียก : เป็นหมันที่ทำหลังคลอดลูก คือทำภายใน 6 สัปดาห์แรกของการคลอดลูก โดยนิยมทำกันทันทีหลังคลอดลูกเลย เพราะจะทำได้ง่าย เนื่องจากมดลูกยังมีขนาดโตและลอยอยู่ในช่องท้องเหนืออุ้งเชิงกราน จึงทำให้สามารถหาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างได้ง่าย การทำหมันเปียกจะผ่าอยู่ใต้สะดือ เป็นแผลเล็กๆ ประมาณ 2-3 เซนติเมตร
- หมันแห้ง : เป็นการทำหมันในช่วงปกติ แบบนี้จะผ่าตัดได้ยากกว่า เนื่องจากมดลูกมีขนาดปกติและอยู่ในอุ้งเชิงกราน จึงทำให้หาท่อนำไข่ได้ยากกว่าการทำหมันเปียก การทำหมันแห้งจะผ่าอยู่เหนือหัวหน่าว เป็นแผลเล็กๆ ประมาณ 2-3 เซนติเมตร
ข้อดี
- เป็นวิธีที่ดีในการวางแผนครอบครัว
- มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในระยะยาว
- ลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน
ข้อเสีย
- ต้องมีการผ่าตัดและมีแผลเป็นที่ท้อง
- หากการทำหมันล้มเหลวอาจท้องนอกมดลูกได้
การคุมกำเนิดของผู้ชาย
ถุงยางอนามัย
ถ้าใช้อย่างถูกวิธีจะใช้คุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดต่างๆ ได้ดี
ข้อดี
- พกติดตัวได้ง่ายและสะดวก
- หาซื้อได้ง่าย
- ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ข้อเสีย
- ต้องใช้ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- บางรายอาจมีการแพ้สารเคมีที่ถุงยาง (ทั้งชายและหญิง)
- หากมีขนาดไม่พอดีอาจทำให้ไม่มีความสุขในการใช้
การคุมกำเนิดด้วยยา
หลักการหลักๆ ของการใช้ยาคุมกำเนิดในผู้ชายคือ เข้าไปลดอัตราการผลิตจำนวนตัวสเปิร์มของเพศชาย ให้เหลือน้อยกว่า 1 ล้านตัวต่อปริมาณน้ำอสุจิ 1 มิลลิลิตร ในตอนนี้ได้มีการคิดค้นยาคุมออกมา 3 แบบซึ่งยังอยู่ในช่วงการวิจัย และยังไม่สามารถวางจำหน่ายตัวยาได้อย่างเป็นทางการ
ยาเม็ดคุมกำเนิด
มีชื่อว่า Dimethandrolone Undecanoate หรือ DMAU สังเคราะห์ขึ้นจากฮอร์โมนเทสโทสเทอร์โรน (Testosterone) และฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เมื่อกินเข้าไปก็จะไปหลอกกระบวนการการทำงานของร่างกาย ให้สมองหยุดสั่งการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอร์โรน ให้กินวันละ 1 เม็ดติดต่อกันทุกวัน
ผลข้างเคียง : เมื่อทดลองทานจริงกลับไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนว่ามีผลต่อการผลิตตัวสเปิร์มหรือไม่
ยาฉีดคุมกำเนิด
เป็นการฉีดสารที่ผลิตขึ้นจากฮอร์โมนโปรเจสโตเจนและเทสโทสเทอโรน เมือนำน้ำอสุจิมาตรวจพบว่า 96% สามารถผลิตตัวสเปิร์มได้น้อยลง จนอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ทำให้ตั้งครรภ์
ผลข้างเคียง : มีฮอร์โมนเพศชายเพิ่มสูงขึ้น เกิดสิว อารมณ์แปรปรวน มีอาการซึมเศร้า บางคนมีอารมณ์ทางเพศเพิ่มมากขึ้น
เจลคุมกำเนิด
จะช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการผลิตตัวสเปิร์ม โดยบีบเจลประมาณครึ่งช้อนชาแล้วทาลงบริเวณแผ่นหลังและหัวไหล่ทุกวัน จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ 1 นาที ให้เจลยาแห้งและซึมซาบสู่ผิวเอง
ผลข้างเคียง : แม้ว่าจะดูดซึมได้ดี อยู่ในกระแสเลือดได้นาน แต่ยังยืนยันไม่ได้ว่าเจลยาบนผิวจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของคู่นอนหรือไม่
ทำหมัน
ทำโดยตัดท่อนำอสุจิในอัณฑะ เพื่อไม่ให้อสุจิปนอยู่ในน้ำที่หลั่งออกมา โดยการทำหมันชายนั้นเพียงแค่ฉีดยาชาก็สามารถทำได้แล้ว ไม่ได้มีการผ่าด้วยซ้ำ วิธีคือใช้คีมปลายแหลมดึงท่อนำอสุจิขึ้นมาจากอัณฑะเล็กน้อย แล้วมัดท่อนำอสุจิก่อนจะตัด เพื่อเป็นการปิดช่องทางการเดินทางของอสุจินั่นเอง
ข้อดี
- ทำง่าย ไม่ต้องผ่าตัด แค่ฉีดยาชาก็ทำได้แล้ว
- ปลอดภัยกว่าการทำหมันหญิง
- ไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ
ข้อเสีย
- ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะไม่พบเชื้ออสุจิในการหลั่ง
- หากอยากมีลูกจะแก้หมันได้ยาก
ข้อมูลอ้างอิงจาก