Parents One

12 วิธีรับมือ เมื่อลูกไม่มีสมาธิ

การไม่อยู่นิ่งของลูก ไม่ได้ตีความว่า ลูกเป็นโรคสมาธิสั้นอย่างเดียวนะคะ เพราะการที่จะทราบว่าลูกเป็นสมาธิสั้นหรือไม่นั้น ต้องผ่านการวินิจฉัยจากคุณหมอก่อน อาจจะมีหลายเหตุผลที่ทำให้ลูกเราไม่มีสมาธิก็ได้ เช่น อยู่กับมือถือ เล่นแต่เกม พักผ่อนนอนน้อย  ฉะนั้นเพื่อสร้างสมาธิให้กับลูก  เราสามารถลองปรับหรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกเพื่อให้ลูกมีสมาธิมากขึ้นได้ค่ะ🙂

1. หาสถานที่สงบๆ

เช่น เวลาให้ลูกนั่งทำการบ้าน มีโต๊ะว่างๆ ไม่มีทีวีหรือของเล่นอยู่บริเวณนั้น ไม่ควรมีอะไรรบกวน ลูกจะได้ไม่วอกแวก 

2. นั่งข้างๆ ลูก

บางครั้งเราอาจต้องนั่งอยู่กับลูก เพื่อให้เขาทำอะไรได้เสร็จเรียบร้อยดี เช่น ทำการบ้านก่อนไปทำเรื่องอื่นๆ

3. เตือนความจำ

พอไม่มีสมาธิก็จะสามารถลืมอะไรได้ง่าย การมีเครื่องมือช่วยเตือนความจำน่าจะช่วยได้ เช่น หากกลัวว่าลูกจะลืมเอาสมุดการบ้านกลับบ้าน เราอาจใช้กระดาษเขียนโน้ตเตือนที่กล่องดินสอลูกได้ค่ะ

4. วางนาฬิกา

เตือนเรื่องเวลา เพราะเด็กที่สมาธิไม่ดี เวลาทำอะไรอาจจะช้า อาจตั้งเวลาเอาไว้ให้เขาเห็นชัดๆ

5. ทวนถึงสิ่งที่ทำกับลูก

เวลาบอกให้ลูกทำอะไร บอกด้วยประโยคที่สั้นกระชับ (ไม่ยืดยาว) และทวนสิ่งที่เราบอกลูกให้ทำ

6. อ่านหนังสือนิทาน

เพื่อช่วยให้เขาจดจ่อกับเรื่องราวที่เราเล่าให้ฟัง เพราะเขาต้องใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น มองสีหน้า ท่าทางขณะเล่า ฟังเรื่องราว เป็นต้น 

7.  จัดกิจวัตรประจำวัน

ว่าเวลาไหนควรทำอะไรบ้าง เช่น ตื่นนอนก็ควรแปรงฟัน อาบน้ำ จะช่วยให้ลูกทำอะไรเป็นระบบ ขั้นตอน ไม่ต้องเร่งรีบเกินไป

8. ฟังเพลงสบายๆ

เพื่อลดความสับสนวุ่นวาย ช่วยให้จิตใจสงบ และทำให้เกิดคลื่นสมองที่เรียกว่า คลื่นอัลฟา (Alpha Wave) ซึ่งเป็นภาวะที่มีสมาธิและเหมาะต่อการเรียนรู้

9. มีกิจกรรมศิลปะ

แค่ชวนลูกทำกิจกรรมศิลปะที่เหมาะสมตามวัยของเขา เช่น ปั้นแป้งโดว์ ระบายสี วาดรูป จะช่วยฝึกให้เขามีสมาธิ และทำงานประสานกันระหว่างมือและสายตาได้ดียิ่งขึ้น

10. เล่นเกม

เช่น เกมจับคู่ ต่อจิ๊กซอว์ เลโก้ บล็อกไม้ เพราะลูกต้องใช้ความตั้งใจจดจ่อกับการเล่น และคิดค้นหาวิธีในการเล่น ได้ทั้งสมาธิและฝึกสมองควบคู่ไปพร้อมกันด้วยนะคะ 🙂

11.  ทำกิจวัตรของตัวเอง

เช่น ติดกระดุมเสื้อ ผูกเชือกรองเท้า เป็นกระบวนการทางความคิด และใช้สมาธิในการทำงาน ที่ว่า ติดกระดุมอย่างไรให้ตรงร่อง ต้องร้อยเชือกอย่างไรให้ครบ ซึ่งถ้าลูกยังทำไม่คล่องนัก เราก็สามารถช่วยสอนเขาอยู่ใกล้ๆ ก่อนได้นะคะ

12. สวดมนต์

หากเราสามารถนำธรรมะมาปรับใช้ เช่น ชวนลูกไหว้พระ สวดมนต์ก่อนนอน หรือให้ลูกท่องบทอาขยาน นอกจากได้ความสงบนิ่งทางจิตใจแล้ว ยังได้ซึมซับเรื่องธรรมะไปด้วยนะคะ🙂

เรื่องควรรู้ สมาธิลูก

  ถ้าไม่มั่นใจ สงสัย และปรับสิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้ว แต่สมาธิเขายังไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำหรือตรวจประเมินกับคุณหมอ
 
เมื่อต้องจัดการพฤติกรรมลูก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่พูดหรือลงโทษลูกรุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้เขาต่อต้านมากขึ้น ลองใช้วิธีงดกิจกรรมหรือตัดสิทธิ์ในเรื่องที่เขาควรได้
  อย่าลืมที่จะเอ่ยคำชมกับลูก เมื่อเขาทำสิ่งต่างๆ ได้ดีนะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

https://web.facebook.com/kendekthai/posts/2088216517884190?__tn__=K-R&_rdc=1&_rdr