เด็กที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเองมักไม่กล้าเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่ หรือทำสิ่งที่ท้าทาย เพราะกลัวความล้มเหลวหรือกลัวทำให้คนอื่นผิดหวัง สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวถ่วงในการประสบความสำเร็จในอนาคตของลูก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องคอยให้กำลังใจเพื่อให้ลูกมีความมั่นใจ เชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งมี 10 วิธีดังนี้
1. ชื่นชมกับความพยายามของลูก
ไม่ว่าลูกจะแพ้หรือชนะ เมื่อเราโตมากขึ้นเราจะพบว่าระหว่างการเดินทางมีค่ามากกว่าจุดหมายปลายทาง เมื่อลูกตั้งเป้าหมายเพื่อที่จะชนะในการทำกิจกรรมบางอย่าง แต่ต้องสะดุดล้มหรือพลาดพลั้งไม่ไปถึงเส้นชัย ให้เราให้กำลังใจกับความพยายามนั้นของลูก อย่าทำให้ลูกรู้สึกอายเมื่อเขากำลังพยายาม ผลดีในระยะยาวคือลูกจะเรียนรู้ว่าความพยายามช่วยสร้างความมั่นใจได้อย่างมากทีเดียว
2. ให้ลูกแสดงพฤติกรรมตามวัย
ไม่ควรคาดหวังให้ลูกแสดงพฤติกรรมเหมือนผู้ใหญ่ หรือพฤติกรรมตามที่พ่อแม่กำหนดเท่านั้น เพราะถ้าลูกทำไม่ได้ จะเป็นการลดความเชื่อมั่นในตัวลูกลง
3. ลองให้ลูกทำสิ่งท้าทายใหม่ๆ
แสดงให้ลูกเห็นเป้าหมายที่เป็นความสำเร็จเล็กๆ เพื่อไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายใหญ่ๆ เช่น ขี่จักรยานโดยไม่ใช้ล้อเล็กฝึกการช่วยขี่ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจสร้างความมั่นใจในตัวลูกเพิ่มขึ้นได้จากความรับผิดชอบตามวัย
4. ให้กำลังใจเพื่อสร้างความสามารถ
ควรให้กำลังใจและเสริมแรงให้ลูกทำในสิ่งที่ลูกสนใจ เพราะจะทำให้ลูกไม่รู้สึกกดดันมากจนเกินไป ฮาโมนี ชู นักเปียโนระดับโลกบอกในรายการทอล์กโชว์ของเอลเลน ว่า เธอฝึกเล่นเปียโนตั้งแต่ 3 ขวบ และเล่นได้ดีเพราะได้รับกำลังใจจากครอบครัว
การฝึกความพยายามจะสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาตนเองตามมา
5. กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น
การตั้งคำถามเพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรามองไม่เห็นในโลกนี้อีกมากที่เรายังไม่ได้เรียนรู้ สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้ลูกมีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น เด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ตั้งคำถามให้เสมอๆ จะเรียนรู้ได้เร็วและดีกว่าเด็กที่พ่อแม่หาคำตอบให้ตลอดเวลา
6. ฝึกให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตนเอง
ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกเสมอ ลูกจะขาดทักษะในการพัฒนาด้านความเชื่อมั่นในการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง และความเชื่อมั่นในตนเองจะหมดไป
7. เปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นบทเรียน
การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดช่วยสร้างความมั่นใจ แต่นั่นจะเกิดขึ้นได้เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทำข้อผิดพลาดนั้นให้เป็นโอกาส อย่าปกป้องลูกมากเกินไป ยอมให้ลูกล้มเหลวบ้างบางครั้งบางคราวเพื่อช่วยให้ลูกเกิดความเข้าใจ และมีการวางแผนที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
8. สอนลูกวิธีไปถึงความสำเร็จ
คุณพ่อคุณแม่เป็นฮีโร่ในใจของเด็กๆ จนกระทั่งลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ใช้โอกาสนั้นสอนลูกให้รู้จักวิธีการคิด การแสดงและการพูด เป็นตัวอย่างและแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก การที่ลูกเฝ้าดูความสำเร็จของเราแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน
9. ไม่วิพากษ์วิจารณ์การแสดงออกของลูก
ไม่มีสิ่งไหนที่ทำให้ลูกท้อใจเท่ากับการวิพากษ์วิจารณ์ลูกในความพยายามของเขา การให้คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะสามารถทำได้บ้าง แต่อย่าบอกว่าลูกทำกิจกรรมนี้ได้แย่จริงๆ ถ้าลูกกลัวที่จะล้มเหลวเพราะกังวลว่าจะทำให้เราโกรธหรือผิดหวัง ลูกจะไม่กล้าทำสิ่งใหม่ การที่พ่อแม่วิพากษ์วิจารณ์ลูกบ่อยๆ จะทำให้ลูกรู้สึกหมดคุณค่าในตัวเองและหมดแรงจูงใจอีกด้วย
10. เป็นพ่อแม่แบบที่เข้าใจลูก
สำคัญที่สุดคือการเข้าใจลูก ไม่บังคับหรือเข้มงวดจนเกินไป หากเราเข็มงวดกับลูกมากเกินไป จะทำให้ลูกขาดความมั่นใจและลดความเชื่อมั่นในตนเองลง การทำตามคำสั่งตลอดเวลาจะส่งผลให้ลูกขาดความกล้าที่จะแสดงออกต่อไป
ที่มา – www.independent.co.uk