ในวันที่โลกหมุนเปลี่ยนไปไม่กำหนดว่าใครเป็นใครและมีความสามารถแค่ไหนด้วยเพศแล้ว กับความรักและตัวตนเองก็เช่นกันที่ถูกเปลี่ยนไปให้มีความหลากหลาย และเปิดกว้างทางการยอมรับมากขึ้น
คุณพ่อคุณแม่เองก็รู้สึกใช่ไหมคะ ว่าทุกวันนี้ ชีวิตของเราก้าวไปข้างหน้าโดยตามมันแทบไม่ทัน และเรื่องที่สามารถพบเจอได้มากที่สุดอันดับต้นๆ คงไม่พ้น การเปิดตัวว่าเราเป็นเพศที่หลากหลายหรือ LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็น เกย์, เลสเบี้ยน, ไบเซ็กชวล, ทรานเจนเดอร์หรือกลุ่มที่ยังไม่นิยามตนเองว่าต้องการเป็นเพศไหนที่ชัดเจน ขอแค่ภูมิใจในสื่งที่เป็นอยู่ นับว่าเป็นสิ่งที่สวยงามมากๆ เลยค่ะ
แต่บางครั้งการทำความเข้าใจในเรื่องนี้สำหรับพ่อแม่แล้ว อาจจะยังรู้สึกเร็วไปหรือปรับความคิดไม่ทันว่าหากลูกของเราเป็น LGBTQ+ ขึ้นมาแล้ว เราต้องปรับตัวอย่างไร จะทำอย่างไรที่จะสามารถปกป้องลูกของเราได้จากการถูกดูแคลนหรือคำร้ายๆ ของผู้อื่น และในบางครั้งก็อาจเป็นเราเองที่ไม่สามารถยั้งคำพูด หรือความคิดออกไปได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปของลูก จนทำให้เกิดการทำร้ายจิตใจ และปิดกั้นความรู้สึกต่อกันในที่สุด และนั่นก็อาจกลายเป็นจุดที่ทำให้ระยะห่างของเราและลูก ไกลออกจากกันมากยิ่งขึ้นค่ะ
ซึ่งเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกเลือกจะเป็น และเราต้องทำความเข้าใจในเรื่องไหนบ้างนั้น มาดูตามกันไปทีละข้อกันเลยค่ะ ว่าเรามีความเข้าใจครบแล้วทุกข้อหรือไม่
ความเข้าใจที่ 1
ไม่ว่าลูกจะอยากเป็นเพศไหน ลูกมีคุณค่าในตนเองเสมอ
การที่ลูกของเราไม่ได้เป็นเพศตรงกับในใบแรกเกิดตามการระบทางการแพทย์ ไม่ได้แปลว่าคุณค่าในตัวตนเขาน้อยกว่า หรือแย่กว่าใคร เด็กทุกคนมีค่ากับเราตั้งแต่วันที่เราตั้งใจให้เขาเกิดขึ้นมาบนโลก มีค่าตั้งแต่ในวันที่เราอยากตั้งชื่อ หรือเตรียมเสื้อผ้า และเปลนอนให้เขาได้ใช้ตอนลืมตาออกมาดูโลกภายนอก เพราะงั้นแล้ว ไม่ว่าลูกของเราจะอยากเป็นเพศไหน หรือมีวิถีการใช้ชีวิตในเส้นทางนี้อย่างไร ลูกนั้นมีค่าเสมอ
แม้คนอื่นอาจทำให้เรารู้สึกไขว่เขวหรือพยายามสอบถามว่ารู้สึกอย่างไร ก็ต้องมั่นใจที่จะตอบกลับไปอยู่เสมอว่า ไม่ม่วาลูกของเราจะเป็นอย่างไร ลูกก็คือสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงเรื่องนั้นได้
ความเข้าใจที่ 2
ไม่จำเป็นต้องพยายามบอกว่าเพราะลูกเป็นเพศนี้จึงเป็นคนพิเศษ เพราะเหตุผลที่ลูกพิเศษ เพราะเขาคือลูกของเรา
พอลูกเราเป็นเพศที่หลากหลายกว่าใคร คงมีบ้างที่อยากจะให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตัว, รสนิยมความชอบ, ความสามารถ ทำให้อะไรที่เขาทำก็ดูพิเศษไปหมด แต่นั่นอาจก่อความรู้สึกอึดอัดให้ลูกได้เพราะการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนทั่วไป หรือมองว่าเพราะเขาเป็น LGBT ถึงได้พิเศษ เราควรปรับความเข้าใจให้ตรงกับความรู้สึกของคนเป็นพ่อแม่ทุกคนควรรู้สึก นั่นคือเพราะเขาเป็นลูกของเรา เขาจึงพิเศษกับเรามากกว่าใครๆ
ไม่ต้องจำกัดด้วยเพศว่าเพราะเป็นเพศนี้จึงพิเศษ แต่ให้ใช้ความรู้สึกว่าเขาคือลูกของเรา เขาจึงพิเศษเสมอไม่ว่าจะเป็นอย่างไร
ความเข้าใจที่ 3
การเปรียบเทียบ ไม่ใช่สิ่งที่ช่วยผลักดันให้ลูกกลับมาเป็นดั่งใจเรา แต่เป็นการผลักลูกให้ออกไปไกลกว่าเดิม
บางครั้งเราเองก็คิดว่าชอบตัวตนที่เราเห็นแต่แรกของลูกที่ตรงกับเพศกำหนดมากกว่า คนทำให้เราเผลอไปบ้างที่จะเปรียบเทียบตัวตนของลูกทั้งกับในอดีต และ คนอื่นๆ ที่เป็นเพศตรงกับวิถีที่เราอยากให้ลูกเป็น โดยที่สิ่งนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่สะเทือนความรู้สึก และส่งผลให้ลูกรู้สึกว่าเราไม่ใช่เซฟโซนของเขา เพราะไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร ก็ไม่เคยเป็นที่พอใจของพ่อแม่เขาเสียที
ดังนั้นการเปรียบเทียบ โดยเฉพาะคำเทียบที่บอกว่า แต่ก่อนดีกว่านี้, คนนั้นเขาเก่งกว่า, ทำไมถึงทำไม่ได้แบบตอนนั้น ทุกคำที่เป็นคำเทียบเชิงลบ จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรพูดหรือส่งผลดีกับตัวลูกอย่างที่เราคิด ต้องปรับความเข้าใจเสียใหม่ว่า ไม่มีใครชอบหรอกนะ กับการที่เราเป็นแบบนี้แต่กลับถูกเทียบอยู่เสมอว่าเป็นแบบนี้ หรือแบบนี้จะดียิ่งกว่า หากเราทำความเข้าใจได้ในส่วนนี้ ก้จะช่วยให้เรามีช่วงเวลาที่จะคิดถึงแต่เรื่องดีๆ ที่ลูกเราเป็น หรือทำได้ และสุดท้ายก็จะไม่มีปัญหาความรู้สึกต่อกัน
ความเข้าใจที่ 4
ไม่ต้องรอให้สังคมยอมรับลูกของเราที่เป็น LGBT เรานี่แหละคือคนแรกที่จะลุกขึ้นมายอมรับตัวตนของลูก
สิ่งที่พ่อแม่กลัวมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องการเป็นเพศที่หลากหลายของลูกคือการไม่ถูกยอมรับ หรือถูกลดทอนโอกาสต่างๆ ในสังคมลงไป จึงเลือกที่จะแก้ไขด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุดโดยการจัดการคนของตนเอง แทนที่จะเปลี่ยนไปตั้งคำถามกับสังคมว่าเพราะอะไรถึงต้องไม่ยอมรับในความหลอกหลายตรงนี้ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด
เพราะความจริงแล้ว สิ่งที่ควรเปลี่ยนคือสังคมต่างหาก ที่ต้องปรับไปตามเวลา รวมไปถึงทัศนคติที่มีต่อทุกคนในสังคมเอง ก็ต้องเปิดกว้างให้ได้มากที่สุดเพื่อมอบโอกาสให้ผู้คนได้อย่างทั่วถึง
ลูกของเราไม่ได้มีความผิด หรือแปลกแต่อย่างใดที่เลือกจะเปิดเผยสิ่งที่เป็น และเราเองก็ต้องไม่มองว่าสิ่งที่ลูกเป็นคือเรื่องแปลกเช่นกัน
การยอมรับ และคอยอยู่เคียงข้างในทุกวันที่ลูกต้องการ จะช่วยให้เรากับลูกได้ใช้เวลาร่วมกัน และเข้าใจกันและกันมากขึ้น เมื่อถึงตอนนั้น ไม่ว่าสังคมจะว่าอย่างไร มันก็ไม่สามารถทำร้ายความรู้สึก และตัวตนของลูกเราได้อย่างแน่นอน
ความเข้าใจที่ 5
เมื่อลูกพร้อมจะเปิดใจพูดคุย เราก็ต้องเปิดหูเพื่อรับฟัง
พ่อแม่หลายคน อาจรู้สึกหรือรับรู้ได้อยู่แล้วว่าลูกของเรา มีตัวตนที่เขาอยากจะเป็น และอาจจะยังไม่กล้าหรือไม่มั่นใจ ซึ่งในเวลาที่เรารู้หรือสัมผัสได้แล้ว เราก็อยากจะให้เขารีบเผยตัวตนเร็วๆ ใช่ไหมคะ ซึ่งในความจริงแล้ว ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติในการเติบโตของลูก เราจะรู้ว่า เขาเองก็กำลังค้นหาตัวตนที่ใช่ที่สุดสำหรับเขา จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เขาจะยังไม่เคยบอก หรือพยายามแสดงตัวตนออกมาให้เราเห็น สิ่งที่พ่อแม่อย่างเราควรทำนั้น ควรเรียงลำดับดังนี้
- ไม่ซักไซ้หรือพยายามจี้เอาคำตอบให้ได้
- ให้ลูกได้ใช้เวลาค้นหาตัวตนเท่าที่ต้องการ
- เมื่อตอนที่ลูกพร้อมจะบอก ให้ตั้ใจฟังในสิ่งที่ลูกบอก
จากทุกข้อที่ได้บอกมานั้น อาจเป็นเพียงแค่การแนะนำเบื้องต้นที่คนเป็นพ่อแม่แบบเราต้องทำการปรับความคิด และเปิดใจให้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกความเข้าใจคือ ไม่ว่าลูกของเราจะเลือกไปในทางไหน ถ้ามันคือความสุขของเขา พ่อแม่แบบเรา จะร่วมยินดีกับ และค่อยอยู่เคียงข้างเขาเสมอ
ที่มา thestandard , thaihealth